วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีน'จีน' ทุ่ม2แสนล้านลงทุนอีอีซี สร้างห่วงโซ่การค้าเชื่อมตลาดโลก

Related Posts

‘จีน’ ทุ่ม2แสนล้านลงทุนอีอีซี สร้างห่วงโซ่การค้าเชื่อมตลาดโลก

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเช่นรถไฟจีน-ลาว-ไทย ทำให้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและไทย การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ สี จิ้นผิง ในวาระที่ 3 นับเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ของจีน การส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในยุคใหม่ โดยต้องอาศัยความพยายามร่วมกันของประชาชนจีนและไทย

การลงทุนจากจีนครองสัดส่วนสูงสุดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งจีนได้ลงทุนตามข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) และยุทธศาสตร์การพัฒนา Green & Circular เชื่อมโยงเชิงพื้นที่ อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA)  & เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor : ILSTC) กับไทย และ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) โดยมีแนวโน้มขยายการลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 5G และพลังงานทดแทน เป็นต้น

นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการอีอีซีเมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในอีอีซีสูงกว่า 2.06 แสนล้านบาท การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ 9.9 หมื่นล้านบาท พลังงานทดแทน 5.6 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.4 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่นๆ พื้นที่การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดระยอง มียอดการลงทุนกว่า 1.08 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าการลงทุน 8.7 หมื่นล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าการลงทุน 1.0 หมื่นล้านบาท

การลงทุนของจีนที่เพิ่มขึ้นในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก่อให้เกิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย บริษัทจีนมากมายเข้ามาลงทุนในไทย บางส่วนได้ตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อมูลสมาคมยานยนต์ของไทย ระบุว่า แบรนด์จีนครองส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสูงราวร้อยละ 90 ในปี 2021 โดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างเอ็มจี (MG) และเกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ได้จัดตั้งโรงงานในเขตพัฒนาฯ ขณะบีวายดี (BYD) และเนตา ออโต (Neta Auto) ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยเช่นกัน ทำให้ไทยมีแนวโน้มส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

กลุ่มบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนยังได้ดึงดูดผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์เข้าสู่ไทย ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งไม่เพียงสร้างการจ้างงานในท้องถิ่น แต่ยังนำเทคโนโลยีและการฝึกอบรมผู้มีความสามารถเข้ามา ซึ่งมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพแรงงานของไทยอีกด้วย ทำให้จีนมีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจขของไทยอย่างมาก นอกจากความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแล้ว นักท่องเที่ยวจีนยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยด้วย กลายเป็นหนึ่งในตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดด้วย

ไทยและจีนมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น ทั้งด้านการลงทุนและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน แม้กิจกรรมการค้าอาจจะลดลงในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่ด้วยสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งจีนยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สำคัญของไทยสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกไปยังตลาดจีนได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของไทย มีการเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไทยได้จัดตั้งสำนักงานการค้าระหว่างประเทศในจีน 7 แห่งเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-จีน แม้ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งความวุ่นวายและมีความเปราะบางมากขึ้น แต่การค้าระหว่างจีนกับไทยกลับยิ่งทวีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะมิตรแท้ เชื่อว่าไทยและจีนจะจับมือกันเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่รุ่งเรืองด้วยกัน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts