รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลและห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุต่าง ๆ รวมถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ และมาตรา 70 ได้บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) เมื่อเดือนธันวาคม 2508 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อต้นปี 2546
แม้รัฐบาลและหลายภาคส่วนจะมีความพยายามและแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าและพื้นที่ราบสูงก็ยังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินเพราะถูกจำกัดการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีวัฒนธรรมของตน ไม่อาจเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายในฐานะพลเมืองเนื่องจากยังไม่ได้รับสัญชาติไทย นอกจากนี้ การอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลยังทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในบริการต่าง ๆ ของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นในมิติทางวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นต้นทุนและศักยภาพที่สำคัญในการพึ่งพาตนเองไป ทำให้ต้องรอและอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น
เนื่องในวันขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติสากล 21 มีนาคม ประจำปี 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักในคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิขั้นพื้นฐานที่กลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ สมควรได้รับ โดยขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติโดยการให้สัญชาติไทยหรือให้สถานะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อยุติการไร้รัฐ (Zero Statelessness) ในประเทศไทยให้ได้ภายในปี 2567 ตามที่ให้คำมั่นกับนานาชาติไว้ นอกจากนี้ ขอให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างกฎหมายแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ เพื่อให้กฎหมายผ่านออกมาใช้บังคับในเร็ววัน ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคบนพื้นฐานของการเคารพในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย และสนับสนุนให้ทุกกลุ่มวัฒนธรรมในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
20 มีนาคม 2567