วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่สภาผู้บริโภคออกโรงป้อง กสทช. “พิรงรอง”

Related Posts

สภาผู้บริโภคออกโรงป้อง กสทช. “พิรงรอง”

“…การที่ทรูดิจิทัล ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นคดีอาญา แทนที่จะฟ้องศาลปกครองทำให้ทั้งคู่ เป็นคู่ความกับทรู หากมีเรื่องของทรูเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. มีความเป็นไปได้ว่า จะไม่สามารถเข้าประชุมได้ หากมีการร้องเรียนว่าเป็นคู่กรณีที่มีความเป็นปฏิปักษ์ อาจเข้าข่ายการกระทำที่เรียกว่า ‘การฟ้องปิดปาก’ ซึ่งผู้ฟ้องคดีอาจมิได้มุ่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับโทษทางกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำเพื่อเป็นการขัดขวางและหน่วงเวลาในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 ท่าน ร่วมพิจารณาและออกเสียงในการประชุม กสทช. และเห็นต่างในวาระสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ลงมติปลดรักษาการ เลขาธิการ กสทช. ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล กรณีนำเงิน 600 ล้านบาทไปสนับสนุนกลุ่มทรูซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ลงมติไม่เห็นชอบให้ไตรรัตน์เป็นเลขาธิการ กสทช. เพราะกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องเริ่มการสรรหาใหม่ และลงมติไม่อนุมัติโครงการเทเล เฮลท์ ที่ขอใช้งบประมาณของ USO 3,8000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ ประธาน กสทช. ผลักดัน…”

สภาผู้บริโภคออกโรงป้อง กสทช. “พิรงรอง”

เปิดพิรุธ “ทรูดิจิทัล” เอาคำสั่งทางปกครองไปฟ้องอาญาหวังปิดปาก-เขี่ยพ้นวงโคจร

เลขาธิการสภาผู้บริโภคเปิดพิรุธ เอกชนโร่ฟ้อง กสทช. ‘พิรงรอง’ ต่อศาลอาญาคดีทุจริต ทั้งวที่เป็นคำสั่งทางปกครอง เชื่อหวังผลให้เป็นคู่ปฏิปักษ์ หวั่นใช้เป็นเครื่องมือปิดปากพิจารณาเรื่ิองทรูในที่ประชุม กสทช.

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้โพสต์ FB ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางว่า เป็นการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อมุ่งหวังยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลของกรรมการ กสทช. โดยอิสระในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ

น.ส.สารี ตั้งคำถามว่า กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเพื่อให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ไม่สามารถพิจารณากรณีทั้งหลายในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ หรืออาจเข้าข่ายของลักษณะการกระทำที่เรียกว่า ‘การฟ้องปิดปาก’ ซึ่งผู้ฟ้องคดีอาจมิได้มุ่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับโทษทางกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำเพื่อเป็นการขัดขวางและหน่วงเวลาในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ที่ผ่านมา ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ร่วมพิจารณาและออกเสียงในการประชุม กสทช. วาระสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งในการประชุมกสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค.2565 มี กสทช.เพียง 5 คน โดยที่ประชุม 2 เสียงคือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ เห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และมีมติรับทราบการรวมธุรกิจ

ขณะที่ กสทช. 2 เสียง ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เห็นว่า เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และให้พิจารณาดำเนินการตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2549 และเห็นว่า กสทช.อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าวได้ ส่วนอีก 1 เสียง คือ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ของดออกเสียง จึงทำให้มีคะแนนเสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2 เสียง ประธาน กสทช. จึงออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาดตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม ทำให้ที่ประชุมมีมติ ‘รับทราบ’ รายงานการรวมธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท และ ทำให้ทรูและดีแทค สามารถดำเนินการควบรวมธุรกิจอย่างเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อมีนาคมปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยังเห็นต่างและลงมติในเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น ลงมติปลดรักษาการ เลขาธิการ กสทช. ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล กรณีนำเงิน 600 ล้านบาทไปสนับสนุนกลุ่มทรูซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ลงมติไม่เห็นชอบให้ไตรรัตน์เป็นเลขาธิการ กสทช. เพราะกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องเริ่มการสรรหาใหม่ และลงมติไม่อนุมัติโครงการเทเล เฮลท์ ที่ขอใช้งบประมาณของ USO 3,8000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ ประธาน กสทช. ผลักดัน

“การที่ทรูดิจิทัล ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นคดีอาญาเพียงคนเดียว แทนที่จะฟ้องศาลปกครองทำให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นคู่ความกับทรู หากมีเรื่องของทรูเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. มีความเป็นไปได้ว่า จะไม่สามารถเข้าประชุมได้ หากมีการร้องเรียนว่าเป็นคู่กรณีที่มีความเป็นปฏิปักษ์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดี ที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการที่ กสทช.พิรงรองได้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย ระบุว่า โจทก์ (ทรูดิจิทัล) ฯ เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย

ทั้งที่การให้บริการของโจทก์  แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภท OTT แต่เป็นการให้บริการที่ กสทช.ยังไม่ได้มีประกาศ หรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ คำสั่งของจำเลยอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่โจทก์ส่งไปออกอากาศได้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบมิชอบ คดีโจทก์มีมูลจึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา เป็นคดีดำ อท.167/2566

#สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts