นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสถานการณ์ปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวหลายแห่งที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการ ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่าครอบครัวพำนักอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จังหวัดตาก พบปัญหาสุขภาพย่ำแย่ ขาดแคลนอาหาร และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย มาตรฐานสิทธิมนุษยชน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐบาลไทยกำหนดให้ผู้หนีภัยการสู้รบมีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยควบคุมดูแลและผ่อนผันให้อาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2527 และยุบรวมเหลือพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพียง 9 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี โดยพบว่า ผู้หนีภัยการสู้รบที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 82,000 คน (UNHCR, มีนาคม 2567) ประสบปัญหาไม่ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนหลายประการ สรุปได้ ดังนี้
1) การควบคุมให้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเป็นเวลานานอย่างไม่มีกำหนด กว่า 40 ปีที่ผู้หนีภัยการสู้รบต้องถูกควบคุมตัวในพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างไร้ความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยเหตุผลที่การรับผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวไปตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นไปอย่างจำกัด ประกอบกับการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้โครงการส่งกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจต้องยุติลง นอกจากนี้ เด็กผู้หนีภัยรุ่นลูกหลานที่เกิดและเติบโตในพื้นที่พักพิงชั่วคราวมานาน รวมทั้งเด็กที่พลัดพรากจากครอบครัว ไม่มีแนวคิดจะกลับไปใช้ชีวิตในเมียนมา และแม้ผู้หนีภัยจะมีความรู้และทักษะอาชีพต่าง ๆ แต่ไม่มีโอกาสที่จะนำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้พัฒนาชีวิตและครอบครัว ทำให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผิดหวัง และมีความทุกข์ในการใช้ชีวิตอยู่
2) ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล การจำแนกผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ผู้หนีภัยเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและถูกส่งกลับประเทศไปเผชิญอันตรายได้ และยังทำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เช่น กรณีผลจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ยกเว้นการให้สิทธิอาศัยผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว แต่ให้คนต่างด้าวกลุ่มอื่น ๆ ที่อพยพและอาศัยอยู่มานานมีสิทธิอาศัย โดยให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายมีถิ่นที่อยู่ถาวร จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มผู้หนีภัย
3) การถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ การที่รัฐบาลไทยไม่ผ่อนปรนให้ผู้หนีภัยออกไปทำงานภายนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราว ผู้หนีภัยจึงต้องลักลอบออกมาทำงาน เช่น มาเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมในชุมชนใกล้เคียง และจำต้องยินยอมให้ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าจ้าง หรือถูกเรียกรับเงินไม่ให้ถูกจับกุมเมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่ จึงเกิดความเครียดสะสมจากการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
4) การเข้าไม่ถึงมาตรฐานการครองชีพ ผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละไม่ได้รับอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ มีภาวะขาดสารอาหาร และยังพบภาวะคลอดก่อนกำหนด ขณะที่องค์การนอกภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่ผู้หนีภัยก็สามารถสนับสนุนอัตราค่าดำรงชีพต่อรายได้เพียงเดือนละ 350 บาท หรือ วันละ 10 – 12 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้หนีภัยยังไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทยตามสถานศึกษาต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคนต่างด้าวกลุ่มอื่น ๆ แต่ศึกษาได้ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวตามหลักสูตรการศึกษาของเมียนมาเท่านั้น ด้านสุขภาพ ผู้หนีภัยมีแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตสูงขึ้น แต่ไม่มีจิตแพทย์เข้าไปให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ผู้หนีภัยยังประสบเหตุอัคคีภัยบ่อยครั้งและยังพบปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศด้วย
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะระยะเร่งด่วน ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ประสานความร่วมมือด้านการต่างประเทศเพื่อส่งตัวผู้หนีภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามโดยเร็ว และให้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้หนีภัย เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การจัดระบบประกันสุขภาพ รวมทั้งจัดให้มีจิตแพทย์เข้าไปบริการรักษาสุขภาพจิต นอกจากนี้ ให้มีกลไกการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเคร่งครัด พัฒนามาตรการระวังภัยและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น จัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยไม่ให้แออัด จัดให้มีแสงสว่างและเวรยามรักษาการณ์ที่เพียงพอ ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในจุดเสี่ยง รวมทั้งจัดให้มีอุปกรณ์ระงับเหตุ เช่น ถังดับเพลิง ตู้ยาสามัญ เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) รวมทั้งทบทวนหลักเกณฑ์การก่อสร้างที่พักโดยปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุธรรมชาติเป็นวัสดุอื่นที่ทนทานต่อการติดไฟ
2) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการผู้หนีภัย และองค์การนอกภาครัฐ สำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทุกคนเพื่อดำเนินงานด้านนโยบาย ทั้งในส่วนข้อมูลของผู้หนีภัย เช่น ความประสงค์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม สมาชิกในครอบครัวในเมียนมา การศึกษาหรือทักษะอาชีพต่าง ๆ ข้อมูลจากภาคเอกชน เช่น ประเภทแรงงานที่ยังขาดแคลน ตลาดแรงงานที่เหมาะสมกับการจ้างงานผู้หนีภัย รวมทั้ง ข้อมูลจากองค์การนอกภาครัฐที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือ เช่น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายต่อผู้หนีภัยที่เหมาะสมกับสถานการณ์
ทั้งนี้ ให้นำข้อมูลจากการสำรวจข้างต้นมาพิจารณากำหนดนโยบายทั้งด้านสิทธิและสถานะบุคคล ด้านการศึกษา และด้านการจ้างงานและการมีรายได้ โดยให้สิทธิผู้หนีภัยที่ไม่ประสงค์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามเป็นผู้มีสถานะคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งมีมาตรการทางเลือกสำหรับผู้หนีภัยที่ไม่มีเครือญาติในประเทศต้นทาง สามารถเข้าสู่กระบวนการสำรวจจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กำหนดนโยบายรองรับผู้หนีภัยได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยทุกระดับชั้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้ผู้หนีภัยมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และควรผ่อนปรนให้สามารถเดินทางออกจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อมาทำงานหรือเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ นอกจากนี้ ให้มีการส่งเสริมรายได้โดยจัดหาตลาดจำหน่ายสินค้าของผู้หนีภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือสินค้าหัตถกรรม ด้วย ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ต้องครอบคลุมถึงการป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบต่อผู้หนีภัยด้วย