วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. ร่วมกับ AICHR Thailand รับฟังความคิดเห็นระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอที่ประชุมอาเซียนรับรอง

Related Posts

กสม. ร่วมกับ AICHR Thailand รับฟังความคิดเห็นระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอที่ประชุมอาเซียนรับรอง

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เช่น ปัญหาการลักลอบขนกากพิษ การเผาพื้นที่การเกษตร และฝุ่นละออง PM 2.5 ล้วนมีผลโดยตรงกับการพัฒนา ส่งผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่มในทุกภูมิภาคโดยไม่มีพรมแดน และส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นต่อกลุ่มประชากรที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง เช่น ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ เด็ก ผู้หญิง หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564) และสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ (เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565) ได้รับรองว่า “สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชน” และยืนยันว่า รัฐมีหน้าที่ในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง

แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการกำหนดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ แต่หลายประเทศก็ได้รับรองหลักการสิทธิมนุษยชนและหน้าที่ของรัฐต่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน ไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือนโยบายในประเทศ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด อย่างไรก็ดีเพื่อให้มีกรอบการดำเนินงานหรือตราสารด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนซึ่งเป็นการยกระดับการเข้าถึงความคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนในภูมิภาคได้มีส่วนร่วม กสม. จึงได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ AICHR และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการจัดทำ “ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม” (National Consultation on the Draft ASEAN declaration on environmental rights) โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยใน AICHR (AICHR Thailand) ทำหน้าที่บทบาทนำในการดำเนินการจัดทำร่างปฏิญญาดังกล่าวร่วมกับผู้แทน AICHR อีก 10 ประเทศ ผ่านกลไกคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN environmental rights working group: AER working group) โดยเมื่อวันที่ 25 – 26 เมษายน 2567 กสม. AICHR Thailand และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับชาติต่อร่างปฏิญญาดังกล่าวในส่วนของประเทศไทย โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประมาณ 130 คน ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมืองแอร์พอร์ต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ในการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว มีการนำเสนอความเป็นมาและสาระของร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม ซึ่งว่าด้วยการรับรองหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด เอื้อต่อสุขภาพ และยั่งยืน การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต การเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงความยุติธรรมตามกฎหมาย ตลอดทั้งการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพในเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคน โดยได้เปิดพื้นที่ให้กับทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในมิติสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากฝุ่นข้ามพรมแดน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การควบคุมมลพิษ เหมืองแร่ ขยะ ที่ดิน ป่าไม้ น้ำ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร ได้แสดงความคิดเห็น โดยภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็น จะมีการประมวลข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากเวที นำเสนอคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนเพื่อปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ จากนั้น จะนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ในเดือนพฤษภาคม 2567 และที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 หากผ่านความเห็นชอบจะนำไปสู่การรับรองร่างปฏิญญาฯ ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ต่อไป

“การรับฟังความคิดเห็นระดับชาติต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ของประเทศไทย ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของการรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคอาเซียน แนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน จะถูกนำไปต่อยอดและส่งเสียงสะท้อนในเวทีอาเซียน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างปฏิญญาดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิก และทำให้อาเซียนมีตราสารด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ในเร็ววัน” นายวสันต์ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts