วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตรเพิ่มบทบาทเชิงรุกสืบสวนสอบสวน

Related Posts

เพิ่มบทบาทเชิงรุกสืบสวนสอบสวน

‘อสส.’ ผนึก 4 หน่วยงาน ลงบันทึกร่วมมืออำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา เพิ่มบทบาทเชิงรุกสืบสวนสอบสวน ค้นหาความจริงเพื่อประสานความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม โดยทุกภาคส่วนมีบทบาทเชิงรุกร่วมกันในทุกขั้นตอนของการค้นหาความจริง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม  2565 ที่ ห้องประชุม 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ  โดย นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด เป็นประธานการทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา ระหว่าง สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย , นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง

นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด

นายสิงห์ชัย กล่าวว่า เพื่อประสานความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม โดยทุกภาคส่วนมีบทบาทเชิงรุกร่วมกันในทุกขั้นตอนของการค้นหาความจริง การสืบสวนสอบสวน ต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และบูรณาการทรัพยากรและการดำเนินงาน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินงานอย่างสอดประสานในทิศทางเดียวกันเพื่อให้การพัฒนา กระบวนการยุติธรรมด้านการอำนวยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ของประชาชนและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเสมอภาคตามกรอบในการพัฒนาประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้สังคมมีความสงบสุข ยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ ประชาชนมีความเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัยในทุกระดับ

ทั้งนี้ การดำเนินงานของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย แต่ละหน่วยงานต่างมีหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกัน โดยมีบทบาทและพันธกิจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมสังคมให้มีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการรักษาความสงบ เรียบร้อยของสังคมดำเนินไปด้วยความตรงไปตรงมา และประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ การประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการค้นหาความจริงในคดีอาญา จึงเป็นหัวใจสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมโดยเฉพาะการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วน เพื่อใช้ในการพิสูจน์ความจริง ส่งผลให้การบริหารจัดการระบบงานยุติธรรมของแต่ละหน่วยงาน และการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาของประเทศดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม บรรลุผลสัมฤทธิ์ ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

ดังนั้น เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานและเพื่อให้การค้นหาความจริงในคดีอาญา การอำนวยความยุติธรรมทางอาญามีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน หน่วยงานทั้ง 5 ฝ่าย จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน ร่วมกัน

โดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการ เชื่อมโยงระบบรับส่งข้อมูลและติดตามผล เพื่อให้เกิดการประสานงานและการบริหารจัดการข้อมูล อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนพันธกิจ ยกระดับการบริหารจัดการ และการอำนวยความยุติธรรม ในคดีอาญาของประเทศไทยให้มีความรวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเสมอภาค เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของแต่ละหน่วยงานด้านการศึกษา การวิจัย และการฝึกอบรม เพื่อให้การรวบรวมพยานหลักฐานและการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงในคดีอาญา เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม เพื่อพัฒนาระบบงานยุติธรรม การอำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิประชาชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการสร้างกลไก การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคีเครือข่าย และพัฒนา ระบบปฏิบัติการแจ้งเหตุอาชญากรรมผ่านระบบ Mobile Application เพื่อการเฝ้าระวังเหตุ

ด้านแนวทางการดำเนินงาน ภารกิจร่วมกันของหน่วยงานทั้ง 5 ฝ่าย เบื้องต้น จะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม คู่มือความรู้ และแนวทางปฏิบัติด้านนิติวิทยาศาสตร์ นิติเวช สืบสวนสอบสวน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรในแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ ภาคีเครือข่าย รวมถึงหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพและกู้ภัย ร่วมกันสนับสนุนวิทยากรในการจัดประชุม สัมมนา และสนับสนุนให้บุคลากร เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน ร่วมกันสนับสนุนและจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา ประจำจังหวัด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่เป็นกรรมการ เพื่อบูรณาการ ประสานความเข้าใจ สร้างความร่วมมือในการทำงานและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละพื้นที่เมื่อมีเหตุอาชญากรรม สำคัญหรือเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น และร่วมกันสนับสนุนและมอบหมายหน่วยงานภายในของแต่ละฝ่ายให้ทำหน้าที่ หน่วยประสานงานเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนต่อไป

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนฯ สำนักงานอัยการสูงสุด

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนฯ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพจะทำได้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่เกิดขึ้น การรักษาพยานหลักฐานที่ถูกต้องแท้จริงไว้ได้จึงเท่ากับการรักษาความจริงเพื่อสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรมตามความเป็นจริง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ทำการศึกษาวิจัยและสอบถามอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่ในคดีอาญา 2 ครั้งรวมกว่า 1900 ท่าน มากกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่สุดในการอำนวยความยุติธรรมคือ อัยการไม่สามารถทราบความจริงหรือความเท็จในคดีและไม่มีเวลาและข้อมูลเพียงพอที่จะสั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้สาเหตุทั้งเกิดจากระบบที่ไม่ได้มาตรฐานและจากการจงใจทุจริตคอรัปชั่น ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง สถาบันวิจัยฯ จึงได้ร่วมมือกับสถาบันนิติวัชร์ และสถาบันฝึกอบรมการสอบสวนชั้นนสูงจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Focus Group) ด้านการสอบสวนจากกระทรวงมหาดไทย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และแพทย์นิติเวช เพื่อจัดทำต้นแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆในการแสวงหาความจริงในคดีอาญาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2664 นำต้นแบบความร่วมมือที่ได้ไปสู่การประชุมสัมมนาทางวิชาการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 23 กันยายน 2564 และนำเข้าประชุมได้ข้อสรุปกับผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ในที่สุดได้พัฒนามาเป็นบันทึกข้อตกลงฉบับนี้

ความยุติธรรมและความเสมอภาคเป็นรากฐานและเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองฯ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผูกขาดโดยหน่วยงานใดแต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐและประชาชนจะต้องร่วมมือกัน สำนักงานอัยการสูงสุดได้ร่วมมือกับ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนคือสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาเพื่อร่วมกันสนับสนุนให้พนักงานอัยการสามารถแสวงหาความจริงและทราบความจริงความเท็จแห่งคดีอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ สามารถสั่งสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างถูกต้องครบถ้วน แลกเปลี่ยนข้อมูลและให้คำปรึกษาเพื่อการอำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดการบิดเบือนคดี ป้องกันการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อยัดข้อหาคนบริสุทธิ์และป้องกันการทำลายพยานหลักฐานที่แท้จริงเพื่อช่วยคนรวยหรือคนมีอิทธิพล

“เมื่อสามารถบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีได้อย่างตรงไปตรงมา ประชาชนจะมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ส่งผลให้สามารถปราบปรามอาชญากรรม การทุจริตคอรัปชั่นและผู้มีอิทธิพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วตรงไปตรงมา จะทำให้สามารถพัฒนาประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆด้าน ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนจะดีขึ้น เมื่อพยานหลักฐานถูกรวบรวมเก็บรักษาได้ครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์และวาทะกรรมที่กล่าวไว้ว่าคุกขังได้เฉพาะคนจน ความยุติธรรมเข้าถึงยากใช้เวลานาน ราคาแพงจะหมดสิ้นไป” ดร.น้ำแท้ กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ) กล่าวว่า   นับเป็นนิมิตหมายที่ดีและถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทยในชั้นสอบสวน  ที่หลายหน่วยงานโดยเฉพาะ “อัยการ” ได้ “ทำข้อตกลงร่วมกัน” ในการค้นหาความจริงและพยานหลักฐาน เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาต่างๆ ตั้งแต่เกิดเหตุ   แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในมือของตำรวจเพียงฝ่ายเดียวเช่นปัจจุบัน  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาประชาชนไม่เชื่อถือเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ  รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมและความวุ่นวายขึ้นในสังคมมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการรวบรวมหลักฐานไม่ครบถ้วน  ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งที่กระทำโดยสุจริตหรือการทุจริต ปกปิดบิดเบือน หรือแม้กระทั่ง “ทำลายพยานหลักฐาน” ช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษตามกฎหมาย

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า  ข้อตกลงนี้จะเป็น  “ช่องทาง” ให้อัยการพื้นที่ผู้มีหน้าที่ฟ้องคดี  ได้มีโอกาส “รับรู้และสัมผัสกับพยานหลักฐาน” ต่างๆ ตั้งแต่เกิดเหตุ  โดยผ่านกลไกที่สำคัญคือ ฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ปลัดอำเภอซึ่งมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นมือไม้อยู่ในทุกพื้นที่และไกล้ชิดกับที่เกิดเหตุ  สามารถให้ข้อมูลหรือแม้กระทั่งช่วยรวบรวมพยานหลักฐานที่ตำรวจอาจละเลยไปมอบให้อัยการ  หรือนำอัยการเข้าไปดูไปตรวจที่เกิดเหตุก็สามารถทำได้

“แนวทางดังกล่าว  จะส่งผลทำให้อัยการไทยมีบทบาทในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญา ‘ในเชิงรุก’ มากขึ้น  เช่นเดียวกับอัยการในในประเทศที่เจริญทั่วโลก  ซึ่งแม้จะไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากเขามีกฎหมายให้อำนาจในการตรวจและสั่งการสอบสวนได้   ซึ่งเราต้องแก้ไขกฎหมายคือ ป.วิอาญาเกี่ยวกับการสอบสวน  ที่สถานการณ์ปัจจุบันทำได้ยากเนื่องจากติดปัญหา ‘วุฒิสภาแต่งตั้ง’ ที่มีนายพลตำรวจนั่งอยู่หลายคน ‘คอยค้าน’ หรือ ‘คอยป่วน’ ไม่ยอมให้ผ่านได้ง่ายๆ แต่ก็ยังดีกว่าการที่อัยการได้แต่  ‘นั่งรอ นอนรอ’ อ่านสำนวนสอบสวน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าตำรวจได้รวบรวมและบันทึกไว้ครบถ้วนหรือไม่?  ซ้ำหลายคดีเป็น ‘นิยายสอบสวน’  อัยการก็ไม่อาจรู้ได้   ต้องก้มหน้า ‘สั่งฟ้อง’ หรือ ‘ไม่ฟ้อง’ คดีไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวนนั้น”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า  ขั้นตอนต่อไปหลังจากการลงนาม MOU ก็คือ  ทุกหน่วยต้องไป “ออกระเบียบ” หรือ “คำสั่ง” ให้เจ้าพนักงานในสังกัดของตนถือปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว  และร่วมกันค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญา  ในลักษณะของการรวบรวมพยานหลักฐาน “คู่ขนาน” ไปกับการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts