“หมอยง” เผยความคิดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เปลี่ยนตามสถานการณ์ เมื่อพึ่งวัคซีนป้องกันไม่ได้ ยาที่ใช้รักษาจะมีความจำเป็นมากสำหรับกลุ่มเปราะบาง จึงมีการศึกษา หายาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อไว้ปกป้องกลุ่มเสี่ยง ให้เกิดอันตรายน้อยลง ชีวิตจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป เด็กนักเรียนจำเป็นจะต้องไปโรงเรียน ในภาคการศึกษาต่อไป
วันที่ 1 เม.ย. 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า โควิด 19 ความคิดเกี่ยวกับโรคโควิด 19 เปลี่ยนตามสถานการณ์
ต้องยอมรับว่าในปีแรก 2563 ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 โรคมีความรุนแรง อัตราเสียชีวิต สูง 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนรอความหวังที่จะป้องกันด้วย “วัคซีน” ปีต่อมา 2564 มีวัคซีน แต่พบว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ยังคงพบการระบาดอย่างมาก ประสิทธิภาพของวัคซีนเหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ไม่สามารถจะกำจัดหรือลดการระบาดลง ในแต่ละปีประสิทธิภาพแตกต่างกันตามสายพันธุ์ การให้วัคซีน 3 เข็ม 4 เข็ม หรือแม้กระทั่งติดเชื้อแล้วก็ยังติดเชื้อซ้ำได้อีก แต่อาการความรุนแรง “ลดลง”
ในปีนี้ 2565 โรคยังคงระบาดอย่างมาก ความรุนแรงลดน้อยลง อัตราการเสียชีวิตลดลง จากที่เคยสูง 1-2 % ลดลงมา เหลือ 1-2 ในพัน (0.1 – 0.2 %) ของผู้ติดเชื้อ (รวม ATK) ส่วนใหญ่เป็นในกลุ่มผู้เปราะบาง หรือ 608 ไม่ได้รับวัคซีน หรือ ได้รับวัคซีนไม่ครบ โดยทั่วไปผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และ ได้รับวัคซีนแล้ว ติดเชื้อได้ ความรุนแรงของโรคจะลดลง แต่ก็ยังสามารถแพร่กระจายโรคได้ ในเด็กปกติโรคมีความรุนแรงน้อยกว่า ยกเว้น เด็กทารก และเด็กที่มีโรคประจําตัว ในเด็กทารกถ้ามารดาได้รับวัคซีนขณะตั้งครรภ์ ภูมิต้านทานก็น่าจะส่งต่อมาปกป้องลูกน้อยในเดือนแรกๆได้
เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ในการอยู่กับโรคนี้ให้ได้ พบผู้ป่วยผู้ติดเชื้อรอบตัวเรา รวมทั้งคนใกล้ชิด มีให้เห็นมากมาย ต่อไปวัคซีนพาสปอร์ต ที่จะต้องฉีด 2 เข็ม 3 เข็มก็จะมีความหมายน้อยลง การสืบสวนโรค ว่าติดจากใคร ทำได้ยาก และปัจจุบันแทบไม่ต้องถาม timeline กันอีกต่อไปแล้ว เราไม่ควรรังเกียจคนที่เป็น และต้องยอมรับ เปรียบเสมือนเป็นโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง ไม่แสดงความรังเกียจผู้ป่วย เราจะต้องอยู่ด้วยกันกับโรคนี้
การตั้งรับในวันนี้ คือ ปกป้องกลุ่มเปราะบาง เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ เรารู้ว่าไข้หวัดใหญ่ เป็นอันตรายในกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มเดียวกันกับโควิด 19 เราให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี คนอ้วน คนมีโรคประจำตัวเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจ โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
การเปิดประเทศมีความจำเป็น ผู้ตรวจพบเชื้อเดินทางเข้ามา พบวันละ 50-60 ราย ถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจพบเชื้อในบ้านเรา 50,000 – 60,000 รายต่อวัน วัคซีนพาสปอร์ตต่อไปก็ไม่มีความหมาย เพราะฉีดวัคซีนแล้ว ยังติดเชื้อได้ การตรวจเชื้อในผู้เดินทางเข้าประเทศ ก็จะเหลือแต่ ATK และต่อไปก็จะตรวจเฉพาะผู้มีอาการ เช่น มีไข้ก็เพียงพอ
การตรวจหาเชื้อในประเทศ ก็คงจะต้องเป็นแบบไข้หวัดใหญ่ จะตรวจเฉพาะผู้มีอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้ยารักษา เมื่อพึ่งวัคซีนไม่ให้ติดเชื้อไม่ได้ ยาที่ใช้รักษาต่อไป จะมีความหมาย และมีความจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง จึงมีการศึกษา หายาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อไว้ปกป้องกลุ่มเสี่ยง ให้เกิดอันตรายน้อยลง
ชีวิตจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป เด็กนักเรียนจำเป็นจะต้องไปโรงเรียน ในภาคการศึกษาต่อไป มีความหวังว่าเด็กนักเรียนได้ไปโรงเรียน และกิจกรรมต่างๆก็จะได้กระทำกันมากขึ้น