นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องและพวก เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ระบุว่า ตามที่เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ สายพันธุ์ปลาจากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา ซึ่งเดิมมีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าเพื่อการวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเริ่มกระจายไปยังชุมพรและสงขลา อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การทำประมงชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้ร้องและพวกจึงร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำและให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กสม. เคยตรวจสอบกรณีที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 171/2561 ลงวันที่ 25 เมษายน 2561 แล้ว โดยในห้วงเวลาดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏว่า ปัจจุบันยังมีการระบาดของปลาหมอคางดำ และมีผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียนให้ตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 สำนักงาน กสม. จึงได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาตามคำร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมบัญชีกลาง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตบางขุนเทียน จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาทนายความจังหวัดสมุทรสงคราม เครือข่ายประมงพื้นบ้านและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และต่อมามีผลการดำเนินการสรุปได้ดังนี้
(1) มาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน สำนักงาน กสม. ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบในพื้นที่ว่ามีการระบาดของปลาหมอคางดำหรือไม่ หากพบการระบาดขอให้พิจารณาจัดประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เพื่อหารือแนวทางการออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผัน การอนุญาตและระยะเวลาการผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือบางประเภททำการประมงในการกำจัดปลาหมอคางดำ
(2) มาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น กรมประมง ได้มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสอบถามกรณีการนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มาใช้สำหรับการเยียวยาแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
(3) มาตรการแก้ไขปัญหาระยะกลาง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 สำนักงาน กสม. ได้จัดประชุมร่วมกับกรมประมง และบริษัทเอกชนผู้นำเข้าสายพันธุ์ปลาหมอคางดำ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยทราบว่าในเดือนเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ ระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 16 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดและยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระดับพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสนับสนุน ติดตามและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและหน่วยงานอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งว่ากรมประมงมีนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยแล้ว
กสม. เห็นว่ากรณีดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา มีการกำหนดแผนการปฏิบัติงานและมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติต่อไป จึงเป็นการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ร้องและพวกอย่างเหมาะสมแล้ว
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเห็นควรมีหนังสือถึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้กำกับดูแลคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับจังหวัดให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา และมอบหมายให้กรมประมงในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ประสานความร่วมมือกับบริษัทเอกชนผู้นำเข้าสายพันธุ์ปลาหมอคางดำ เพื่อจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งติดตามประเด็นมาตรการการเยียวยา โดยให้ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) กรมบัญชีกลาง และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ แนวทาง หรือมาตรการเยียวยา ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อไป