การประชุม คณะผู้นำประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค. 2567 ในกรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน มีมติเรียกร้องการสร้างโลกแบบหลายขั้วอำนาจ เพื่อจัดการกับความเสี่ยง และความท้าทายด้านความมั่นคง ที่จำเป็นเร่งด่วน
องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 จากสมาชิก 6 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน จนขณะนี้ SCO ได้เพิ่มสมาชิกใหม่ๆ ทั้งอิหร่าน, อินเดีย, ปากีสถาน และเบลารุส ขยายพัฒนาการจากความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียกลาง มาเป็นองค์การระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันระเบียบโลกใหม่ ที่มีจีนและรัสเซียเป็นแกนนำ
ในการหารืออย่างเป็นทางการ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เรียกร้องให้บรรดาประเทศสมาชิก ร่วมมือกัน เพื่อต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างมั่นคง ดูแลข้อกังวลของกันและกัน ควบคุมอนาคตประเทศ ด้วยสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคด้วยตนเอง
ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เชื่อว่า SCO กำลังเดินด้วยย่างก้าวที่มั่นคง เติบโตไปเป็นศูนย์กลางใหม่ของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ปูตินชี้ว่า โลกกำลังต่อสู้กันด้วยอาวุธหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการใช้กำลังทหาร และการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ในการกีดกันอย่างเป็นระบบ การเผชิญหน้าเหล่านั้น ทำให้เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จนกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระดับโลกมากขึ้น
รัสเซียและจีน ต่อต้านบทบาทของสหรัฐอเมริกา ในการครอบงำกิจการระดับโลก ลดความเสี่ยงของการขยายอิทธิพลเหนือดินแดนต่างๆ ด้วยการสร้างโลกหลายขั้วอำนาจ ปรับปรุงธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ เพื่อจัดการกับภัยคุกคามความมั่นคง ทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่
การรวมกลุ่มของ SCO มีจุดมุ่งหมายเพื่อคานอำนาจชาติตะวันตก ที่ถูกมองว่ามักใช้วิธีการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว จุดชนวนความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ SCO กำลังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะหากจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มมุสลิมที่คิดเป็น 40% ของโลก และมีจีดีพีรวมกัน 30% ของโลก สามารถเปลี่ยนแปลงแกนอำนาจได้ไม่ยาก