วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวเบื้องหลังหายนะอุตสาหกรรม สัตว์น้ำไทย

Related Posts

เบื้องหลังหายนะอุตสาหกรรม สัตว์น้ำไทย

“…แฉบริษัทยักษ์ด้านเกษตรและปศุสัตว์ครบวงจรระดับประเทศ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บริษัทภิบาล” ปกปิดข้อมูลการนำเข้าปลาหมอคางดำที่เป็นปลาต่างถิ่น “เอเลี่ยนสปีชีส์” เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล แต่ไม่รู้ไปทำการวิจัยและพัฒนากันอิท่าไหน จึงทำให้ปลาหมอคางดำเจ้ากรรมเล็ดลอดออกสู่หนองน้ำธรรมชาติ และบ่อปลาของเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง ก่อนจะแพร่ขยายออกไปในวงกว้างจนสร้างหายนะให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหลาย การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำดังกล่าวนั้น เป็นไปอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นปลาที่มีความทนทรหด และอยู่ได้ในทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเค็ม น้ำจืดหรือน้ำกร่อย กิน ลูกปลา ไข่ปลา และปลาอื่นๆ เป็นอาหารหลัก จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วถึง 28 จังหวัดแล้วในปัจจุบัน สร้างหายนะให้กับผู้เพาะเลี้ยงปลา รวมทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติในวงกว้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับชาติ ต้องตั้งทีมไล่ล่าปลาหมอคางดำ เพื่อกำจัด “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่ว่านี้ ก่อนจะสร้างหายนะให้กับเกษตรกรและชาวประมงทั้งระบบ…”

เบื้องหลังหายนะอุตสาหกรรม สัตว์น้ำไทย

ฝีมือบริษัทภิบาลยักษ์ ลอบนำเข้า-ปล่อยปลาหมอคางดำ

ผลตรวจสอบ กสม.ยืนยันชัด แต่บริษัทยังโบ้ย

นักวิชาการแฉซ้ำ ลักลอบเพาะพันธ์มีปลาเก๋าหยกอีกสายพันธ์

BIOTHAI เรียกร้องบริษัทภิบาลแสดงความรับผิดชอบ

กำลังเป็นประเด็นสุดร้อนของสังคมที่มีการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง ไม่แพ้กรณี #Saveทับลาน กับความพยายามในการเพิกถอนที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานบางส่วนเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกร

กับเรื่องที่มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในจังหวัดสมุทรสงคราม และอีกหลายจังหวัด ออกโรงแฉบริษัทยักษ์ด้านเกษตรและปศุสัตว์ครบวงจรระดับประเทศ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บริษัทภิบาล” ที่ปกปิดข้อมูลการนำเข้าปลาหมอคางดำที่เป็นปลาต่างถิ่น  “เอเลี่ยนสปีชีส์” เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ที่เป็นผลผลิตอันเลื่องชื่อของบริษัท

แต่ไม่รู้ไปทำการวิจัยและพัฒนากันอิท่าไหน จึงทำให้ปลาหมอคางดำเจ้ากรรมเล็ดลอดออกสู่หนองน้ำธรรมชาติ และบ่อปลาของเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง ก่อนจะแพร่ขยายออกไปในวงกว้าง จนสร้างหายนะให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหลาย ในหลายสิบจังหวัดแล้ว ในปัจจุบัน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับชาติ ต้องตั้งทีมไล่ล่าปลาหมอคางดำ เพื่อกำจัด “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่ว่านี้ ก่อนจะสร้างหายนะให้กับเกษตรกรและชาวประมง ทั้งระบบ

กสม.แฉที่มาของการแพร่พันธุ์

เมื่อมีการตรวจสอบต้นตอของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่ และได้มอบหมายให้อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2560

ก่อนจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรและปศุสัตว์ครบวงจรรายนี้ ได้ดำเนินการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ ตามขั้นตอนของกฎหมายจริง และหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต คือ คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง ได้พิจารณาอนุมัตินำเข้าอย่างมีเงื่อนไขตั้งแต่ปี 2549

แม้จะมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องมีการจัดเก็บตัวอย่างการวิจัย และรายงานต่อหน่วยงานกรมประมงอย่างเข้มงวดแล้ว ยังกำหนดเงื่อนไข ให้บริษัท ต้องใช้ความระมัดระวังมิให้มีการแพร่ขยายออกสู่ธรรมชาติได้

แต่กลับพบการระบาดของปลาหมอคางดำ สายพันธุ์ “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่ว่านี้ แพร่ระบาด ออกสู่ธรรมชาติ และบ่อปลาของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

แม้บริษัทจะอ้างว่า “ปลาหมอสีคางดำที่บริษัทขออนุญาตนำเข้าในช่วงปี 2551-53 มีอยู่เพียงล็อตเดียวจำนวน 2,000 ตัว แต่อยู่ในสภาพที่ อ่อนแอ และตายลงเกือบทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียงสามสัปดาห์เท่านั้น จึงได้ทำลายฝังกลบไปหมดแล้ว พร้อมยืนยันว่าบริษัทไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำแต่อย่างใด”

แต่จากเอกสารหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับจากเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ และพื้นที่ข้างเคียงกับศูนย์วิจัยของบริษัท รวมทัังที่คณะกรรมการได้ลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเองพบว่า เริ่มมีการระบาดของปลาหมอสีคางดำในปี 2555  และเริ่มมีทางแพร่ระบาดจำนวนมากในปี 2559 ก่อนที่จะพบว่ามีการระบาดอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีมติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะมาตรฐานหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกรมประมง และกระทรวงเกษตร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 247 วงเล็บ 1 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย 3 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 วงเล็บ 1 เพื่อพิจารณาดำเนินการ

แพร่ระบาดวงกว้าง 28 จังหวัด

ขณะที่ การสำรวจในเชิงลึก ยังพบว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ดังกล่าวนั้น เป็นไปอย่างรุนแรง เนื่องจากปลาหมอสีคางนำนั้นเป็นปลาที่มีความทนทรหด และอยู่ได้ในทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเค็ม น้ำจืดหรือน้ำกร่อย กิน ลูกปลา ไข่ปลา และปลาอื่นๆ เป็นอาหารหลัก จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วถึง 28 จังหวัดแล้ว ในปัจจุบันสร้างหายนะให้กับผู้เพาะเลี้ยงปลา รวมทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นวงกว้าง

ข้อมูลจากการตรวจสอบย้อนกลับไปในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่พบว่ามีบริษัทเอกชน หรือผู้นำเข้ารายอื่นใด มีการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำ เข้ามาในประเทศ จะมีก็มีเพียงบริษัท เอกชนรายใหญ่รายนี้เท่านั้น จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าต้นตอของการแพร่ระบาด ปลาหมอสีคางดำ มาจาก บริษัทอย่างแน่นอน

มีการเรียกร้องให้บริษัทได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อหายนะ ทีกำลังเกิดขึ้นกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย อันมีต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แม้บริษัทจะอ้างว่า ไม่ใช่ต้นตอหรือต้นเหตุ เพราะปลาหมอสีคางดำที่บริษัทนำเข้านั้น ตายและถูกทำลายลงไปหมดแล้วตั้งแต่แรก 

แต่ก็ยากจะปฏิเสธหรืออรรถาธิบายต่อสังคม แล้วปลาหมอสีคางดำ ที่แพร่ระบาด ในเวลาต่อมานั้นมาจากที่ใด จะมาจากการลักลอบนำเข้า ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือกระบวนการขออนุญาตนำเข้าปกติ หรือไม่ จนทำให้ปลาดังกล่าวเล็ดรอดลงสู่คลองธรรมชาติเอาได้

แฉซุ่มเงียบนำเข้า-พัฒนาพันธุ์ปลาต้องห้าม

แม้บริษัทจะออกโรงปฏิเสธอย่างไร แต่พฤติการณ์ของบริษัทที่มีการลักลอบนำเข้าสายพันธุ์ปลาต้องห้าม รวมทั้งปลาหมอคางดำเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ก็ยากจะไขความกระจ่างให้แก่สังคมได้

ยิ่งกับกรณีล่าสุด เมื่อต้นปี 2566  ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้แถลงข่าวเปิดตัว “ปลาหยก” หรือเก๋าหยก (Jade Perch) ที่จะเป็นอาหารเกรด “พรีเมียม” เชิงการค้า ที่บริษัทบอกว่ามีโภชนาการสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์จากนักวิชาการด้านอนุรักษ์ที่เห็นว่า  ปลาหยกหรือเก๋าหยกดังกล่าว เป็น 1 ใน 13 บัญชีสัตว์น้ำ “เอเลียนสปีชีส์” ที่กรมประมงออกประกาศห้ามนำเข้า และเพาะเลี้ยง จึงไม่เข้าใจว่า แล้วกลายมาเป็นปลาเกรดพรีเมียมของกลุ่มซีพีเอฟไปได้อย่างไร..?

ทั้งแสดงความกังวลห่วงว่า หากหลุดในธรรมชาติซ้ำรอยปลาหมอสีคางดำ อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในอนาคต (รายละเอียดที่นี่)

พฤติกรรมเยี่ยงนี้จึงทำให้ มูลนิธิเครือข่ายชีววิถี (BIOTHAI) และนักวิชาการอนุรักษ์ทั้งหลายต่างพากันตั้งข้อสงสัยถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในช่วงที่ผ่านมาที่กำลังสร้างหายนะให้แก่อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยอยู่เวลานี้ จะเป็นฝีมือใครได้อีกหรือ

ในเมื่อกลุ่มทุนที่นำเข้าสายพันธุ์ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ในระยะ 15-20 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งกับที่มีการนำเจ้าพันธุ์ปลา “ต้องห้าม” เข้ามาเพาะเลี่ยง เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่อยู่ในเวลานี้ ไม่เห็นจะมีใครทำได้ นอกจากกลุ่มทุนนักลงทุนกลุ่มนี้เท่านั้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts