นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่า ผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เนื่องจากถูกจำหน่ายชื่อไปไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และคนในทะเบียนบ้านกลางซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียนเป็นเวลานานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการของรัฐ ไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนและไม่มีสิทธิทำธุรกรรมใด ๆ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เช่น เข้าไม่ถึงการศึกษา ไม่มีโอกาสหางานทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านสวัสดิการแรงงาน เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
กรณีปัญหาดังกล่าว กสม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่ถูกเพิ่มชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง มีอยู่ประมาณ 381,000 คน ประสบปัญหาหลายประการ ดังนี้ (1) ปัญหาสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยบุคคลที่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนแต่บัตรสูญหาย ชำรุด หรือหมดอายุจะไม่สามารถขอทำบัตรใหม่ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 5 กำหนดให้ผู้ที่จะจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ต้องมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านแล้วเท่านั้น และกรมการปกครองเห็นว่า ทะเบียนบ้านกลางไม่ใช่ทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ข้อ 8 นอกจากนี้บุคคลที่มีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลางเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียน จะถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลาง ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการคุ้มครองและจัดการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร พ.ศ. 2561 ทำให้ไม่ถูกบันทึกชื่อและรายการในทะเบียนราษฎรใด ๆ ตามระบบกฎหมายของไทยอีกต่อไป ซึ่งกระทบสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และกระทบต่อสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย
(2) ปัญหาสิทธิของผู้สูงอายุและคนพิการที่จะได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2556 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นอาศัยอยู่ ดังนั้น บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจะถูกตัดสิทธิไม่ให้รับเบี้ยดังกล่าว (3) ปัญหาสิทธิการมีส่วนร่วมในการปกครอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งแต่ละฉบับกำหนด บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจึงไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อันกระทบต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
(4) ปัญหาการออกหมายจับ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 33 วรรคสอง กำหนดว่ากรณีศาลออกหมายจับผู้ใด ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ผู้นั้นจะถูกย้ายชื่อและรายการจากทะเบียนบ้านเดิมไปไว้ในทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งกระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และ (5) ปัญหากรณีผู้ให้เช่าหรือผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นพักอาศัย ไม่ยินยอมให้เพิ่มชื่อผู้อยู่อาศัยเข้าในทะเบียนบ้าน บุคคลเหล่านี้จะถูกเพิ่มชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลางแทน ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น
ดังนั้น เพื่อให้บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางไม่สูญเสียสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมาย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ข้อเสนอแนะระยะเร่งด่วน ให้กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง มอบหมายนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น หรือสาขา ตรวจสอบภูมิลำเนาของผู้ประสงค์ทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่แต่มีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง หากมีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในท้องที่นั้นจริง ให้ใช้ข้อเท็จจริงนั้นแสดงภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 ถึงมาตรา 42 โดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงระบบ ให้แก้ไขระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 โดยกำหนดให้ทะเบียนบ้านกลางเป็นทะเบียนบ้านประเภทหนึ่ง ใช้สำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน และบุคคลที่อยู่ระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับของศาล โดยอ้างอิงภูมิลำเนาตามสำนักทะเบียนจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น และกำหนดเลขประจำบ้านขึ้นมาให้เหมือนกันทั่วประเทศ โดยระบุที่อยู่ของทะเบียนบ้านกลางเป็นที่อยู่ของสำนักทะเบียนแต่ละพื้นที่ และหากบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลดังกล่าวชำรุด สูญหาย หรือหมดอายุ ให้สามารถทำบัตรใหม่ได้
นอกจากนี้ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 30/1 โดยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้าน หรือผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการแจ้งให้นายทะเบียนทราบเพื่อเพิ่มชื่อบุคคลที่ประสงค์ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านโดยมีเจตนาจะถือเป็นภูมิลำเนา หากเจ้าบ้านไม่ดำเนินการแจ้งให้ผู้ที่ประสงค์ย้ายเข้าสามารถแจ้งนายทะเบียนปลายทางทราบเพื่อประสานกับนายทะเบียนต้นทางนำชื่อย้ายมายังทะเบียนบ้านปลายทางได้
ส่วนบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางมาเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียน ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพิ่มมาตรการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยให้นายทะเบียนลงพื้นที่ หรือใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากบุคคลนั้น จากหัวหน้าชุมชน หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น เพื่อให้ทราบว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่สำนักทะเบียนนั้นหรือไม่ อีกทั้ง ควรประกาศรายชื่อผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางในเว็บไซต์ของกรมการปกครอง รวมทั้งช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลได้โดยง่าย นอกจากนี้ ต้องให้ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางสามารถติดต่อและแจ้งข้อมูลแก่นายทะเบียนได้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์
(2) ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมกันพิจารณาให้สิทธิบุคคลที่ถูกเพิ่มชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง สามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเบี้ยความพิการ และมีสิทธิเลือกตั้งได้
(3) กระทรวงมหาดไทย ควรมุ่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศในลักษณะบูรณาการเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งตระหนักถึงผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาแก้ไขเชิงระบบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลประชากร ให้สอดคล้องกับภูมิลำเนาตามสภาพความเป็นจริง เช่น กรณีมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง และกรณีถูกจำหน่ายชื่อและรายการออกจากทะเบียนบ้านกลางอย่างถาวร เป็นต้น