กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ – มีข้อเสนอแนะเชิงระบบแก้ปัญหากรณีบุคคลที่ถูกจำหน่ายชื่อไปทะเบียนบ้านกลางไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการจากรัฐ
วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 25/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับพวก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เกิดเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกร้อง) ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุ อายุ 14 ปี และสอบปากคำโดยไม่มีนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาร่วมกระบวนการ รวมทั้งปล่อยให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่เกิดเหตุและพูดคุยกับผู้ก่อเหตุ ต่อมามีการเผยแพร่วิดีโอ ภาพถ่าย และภาพบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ก่อเหตุในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิเด็ก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ห้ามเจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน อนุญาตหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน และในการสอบสวนให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้น ซึ่งสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
จากการตรวจสอบเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก กรณีปล่อยให้ภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เห็นว่า ผู้ถูกร้องจับและควบคุมตัวผู้ก่อเหตุอายุ 14 ปี โดยมีบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์บันทึกวิดีโอขณะที่ผู้ถูกร้องควบคุมตัวและสอบปากคำเด็กผู้ก่อเหตุในที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กผู้ก่อเหตุที่ทำให้เห็นข้อมูลส่วนบุคคลชัดเจน เมื่อพิจารณาสถานที่เกิดเหตุ ผู้ถูกร้องควบคุมตัวผู้ก่อเหตุภายในร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถจำกัดทางเข้าออกได้ ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจในการควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการสถานที่เกิดเหตุไม่ให้สื่อมวลชนหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องถ่ายคลิปวิดีโอหรือบันทึกภาพ แต่เมื่อการบันทึกวิดีโอเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้อง และต่อมามีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้ประชาชนทั่วไประบุตัวตนของเด็กผู้ก่อเหตุและครอบครัวได้ จนส่งผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องจึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง กรณีการสอบปากคำเด็กผู้ก่อเหตุในชั้นจับกุมโดยไม่มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วม เห็นว่า ผู้ถูกร้องควบคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ และได้สอบถามเบื้องต้นเกี่ยวกับการก่อเหตุเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เข้าระงับเหตุในห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก จึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ถูกร้องจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้รวดเร็วที่สุด ต่อมาเมื่อนำตัวผู้ต้องหาไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน ผู้ถูกร้องได้ประสานให้นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหาตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้ถูกร้องสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ก่อเหตุแล้ว มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานผู้ถูกร้องและเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายการเมืองเข้าร่วมพูดคุยกับผู้ก่อเหตุด้วย เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุ 14 ปี อยู่ในอาการหวาดระแวง และมีสัญญาณการฆ่าตัวตาย ผู้ถูกร้องควรปฏิบัติต่อผู้ก่อเหตุโดยคำนึงถึงสิทธิเด็ก โดยจำกัดเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่เท่าที่จำเป็นเท่านั้นที่จะเข้าไปในสถานที่ควบคุมตัว เพื่อป้องกันมิให้มีบุคคลใดสอบถามหรือพูดคุยกับเด็กโดยไม่มีทีมสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่เด็กไว้วางใจร่วมอยู่ด้วย การกระทำของผู้ถูกร้องในชั้นจับกุม แม้จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องในการบริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุโดยขาดความระมัดระวังที่เพียงพอ จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัดปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยให้ภาพและคลิปวิดีโอในระหว่างการควบคุมตัวผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเด็กเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้ปฏิบัติเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงของผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคล และกำชับให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดให้บริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุหลังการควบคุมตัวผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยให้บุคคลที่มีหน้าที่เฉพาะและเท่าที่จำเป็นเท่านั้นที่จะเข้าไปในสถานที่ได้ และให้ใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้มีบุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องสอบถามหรือพูดคุยกับผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนโดยไม่มีเหตุอันสมควรโดยไม่มีสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่เด็กไว้วางใจร่วมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำหรือปรับปรุงแผนบริหารสถานการณ์วิกฤติและการเจรจาในชั้นเผชิญเหตุให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และกำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในที่เกิดเหตุ และจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการบริหารสถานการณ์วิกฤติและการเจรจาดังกล่าว ตลอดจนกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพเพื่อทำงานร่วมกันในชั้นเผชิญเหตุ กรณีผู้ก่อเหตุเป็นเด็กหรือผู้ป่วยจิตเวช เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน และสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง