ท่ามกลางการไหลบ่าของเศรษฐกิจโลก ถาโถมเข้าใส่ทุกพื้นที่ ทำลายล้างสิ่งที่เปราะบาง นานาประเทศมิอาจต่อต้านความรุนแรงของคลื่นดิจิทัล แต่หากเราไร้จุดยืน หลงไหลไปกับกระแสโลภาภิวัฒน์ จะเกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นผู้แพ้ในที่สุด
แม้เราจะมองว่า ส่วนหนึ่งในการเพลี่ยงพล้ำของธุรกิจไทยก็คือ การเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากต่างชาติ นั่นก็ถูก แต่อีกส่วนหนึ่ง เราได้ปรับตัว หาจุดเปลี่ยน แล้วลุกขึ้นมาต่อกรอย่างจริงจังหรือยัง
ยกตัวอย่าง ประเทศจีน ในอดีตถูกมองว่าผลิตสินค้าราคาถูก ด้อยคุณภาพ อย่าว่าแต่คนต่างชาติจะไม่เห็นคุณค่าเลย แม้กระทั่งคนจีน ก็ยังไม่ใช้สินค้าของตัวเอง นั่นทำให้กลายเป็นโอกาสของสินค้าจากฝั่งตะวันตก เข้าไปกอบโกยรายได้จากผู้บริโภคกว่าพันล้านคน ทั้ง แอปเปิล แมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ โกยยอดขายกันสนุกสนาน ท่ามกลางการล่มสลายของธุรกิจมากมายในจีน ที่ต่อกรกับยักษ์ข้ามชาติไม่ได้
ทว่า ผ่านมาเพียงหนึ่งทศวรรษ ยอดขายของสินค้าต่างชาติ ที่เคยเติบโตมหาศาลในจีน กลับค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ยอดขายของ แอปเปิล ในจีน ร่วงลงอย่างน่าใจหายเกือบ 20% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สตาร์บัคส์ที่เคยครองแชมป์ยอดขายกาแฟอันดับ 1 ในจีน ถูกสตาร์ทอัพของจีนที่เพิ่งเปิดตัวไม่กี่ปี ทำยอดขายแซงหน้าขึ้นไปเป็นแชมป์แทน แม้กระทั่ง แมคโดนัลด์ ก็เริ่มสั่นคลอนกับการเข้ามาของเบเกอรี่ท้องถิ่นที่มีชื่อว่า ‘ต้าซื่อถิง’ (Tastien)
ที่สำคัญก็คือ สินค้าที่กลายมาเป็นคู่แข่งของยักษ์ตะวันตกเหล่านั้น ไม่ใช่แบรนด์ดังที่ห้ำหั่นกันในตลาดโลก แต่กลับกลายเป็นแบรนด์ท้องถิ่น หรือ เมด อิน ไชน่า ที่ถูกปลุกปั้นสร้างมาในช่วงการล่มสลายของสินค้าราคาถูก ด้อยคุณภาพ นำบทเรียนความล้มเหลว มาพลิกฟื้นด้วยการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม ใช้งานวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์คุณภาพยุคใหม่ ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยี เกิดเป็นแบรนด์ชั้นนำอย่าง หัวเว่ย เสียวหมี่ เทนเซ็นต์ เป็นต้น
ผลประกอบการของ หัวเว่ย พิสูจน์ให้เห็นด้วยยอดขายที่พุ่งขึ้นกว่า 70% ขณะที่คู่แข่งอย่าง แอปเปิล รายได้ลดไปกว่า 5.9 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ใช่แค่ แอปเปิล เท่านั้นที่กำลังเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ในตลาดจีน แต่แบรนด์สัญชาติอเมริกันเจ้าอื่นๆ ก็อยู่ในชะตากรรมเดียวกัน อาทิ ‘วอลมาร์ต’ กว่า 100 สาขาในจีน ทยอยปิดตัวลงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
‘สตาร์บัคส์’ กาแฟอเมริกันที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมคนจีน จากการดื่มชาหันมาดื่มกาแฟ จนสามารถขยายสาขาในจีนเกือบ 7,000 แห่ง ต้องพ่ายแพ้ให้กับ ‘ลัคกิน คอฟฟี่’ (Luckin Coffee) แฟรนไชส์ร้านกาแฟสัญชาติจีน ที่มียอดขายแซงหน้า โดยในไตรมาสแรกของปี 2024 ยอดขาย สตาร์บัคส์ ลดลงไปประมาณ 8% ในขณะที่ยอดขาย ลัคกิน คอฟฟี่ พุ่งทะยานกว่า 41%
อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือ การถูกแย่งตลาดของรองเท้าชื่อดัง “ไนกี้” จากแบรนด์ท้องถิ่นที่คนทั้งโลกแทบไม่รู้จักคือ ‘อันท่า’ (Anta) รองเท้ากีฬาสัญชาติจีน เข้ามายึดกุมหัวใจชาวจีนรุ่นใหม่ ที่ไม่ยึดติดในแบรนด์ แต่เริ่มมองหาลวดลายที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของชาติ ส่งผลให้ ‘อันท่า’ ทำยอดขายไล่เบียดไนกี้ขึ้นมา และอาจแซงหน้าในอนาคตอันใกล้นี้
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะการพัฒนากระบวนการผลิตของสินค้าจีน ที่นำการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาสู่กระบวนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาจับต้องได้ แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ การทำให้คนในประเทศ ยอมรับและเชื่อมั่นในแบรนด์ “เมด อิน ไชน่า” สร้างความรู้สึกให้เกิดกระการใช้สินค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรักและความภูมิใจในชาติ เมด อิน ไชน่า กลายเป็นใบเบิกทางออกไปแข่งขันในตลาดโลก กลายเป็นแบรนด์นวัตกรรมชั้นนำของโลก มากมายหลายยี่ห้อ
ความสำเร็จของ “เมด อิน ไชน่า” ทำให้เห็นว่า การสร้างสรรค์แบรนด์ท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ แม้กระทั่ง “เมด อิน ไทยแลนด์” ซึ่งรัฐบาลควรผลักดันนโยบาย “เมด อิน ไทยแลนด์” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน หันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและห่วงโซ่ SME เข้มแข็งขึ้น
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทย ควรเร่งปรับตัว ยกระดับการผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งคนไทยทำได้แน่นอน ยกตัวอย่าง กางเกงนักมวย ยาดมสมุนไพร ผ้าขาวม้า หรือ “กางเกงช้าง” ที่เคยเป็นกระแสฟีเวอร์โด่งดังไปทั่วโลก แต่เรากลับพ่ายแพ้ให้กับความรู้สึกว่า มีการทำเลียนแบบจากต่างชาติ ออกมาขายแข่ง จนลืมไปว่า ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า เมด อิน ไทยแลนด์ ไม่ใช่สินค้าราคาถูก