วันที่ 14-17 สิงหาคม 2567 หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เดินทางเยือนเมียนมาและประเทศไทย เพื่อเป็นประธานร่วม ในการประชุมระดับรัฐมนตรี กรอบความร่วมมือ “แม่โขง-ล้านช้าง” โดยรัฐมนตรีต่างประเทศจีน จะเข้าร่วม “การหารืออย่างไม่เป็นทางการ” ระหว่าง สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และ ไทย
โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม หวัง อี้ เข้าพบหารือกับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งสอง ที่กรุงเนปยีดอ แสดงจุดยืนของจีน ในการต่อต้านความวุ่นวาย รวมถึงความขัดแย้งในเมียนมา และสนับสนุนการทำงานเพื่อฟื้นฟูกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด
นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เกิดเหตุปะทะขึ้นหลายครั้งในรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งมีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนานของจีน และยังเป็นส่วนสำคัญในโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หลังจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ได้กลับมาโจมตีกองทัพเมียนมา บนเส้นทางการค้าสำคัญ ที่เชื่อมต่อไปยังจีน
หวัง กล่าวว่า “จีนมีเป้าหมาย ในการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคี ร่วมกันในหลายด้าน สนับสนุนความพยายามของเมียนมา ในการรักษาเสถียรภาพ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศ”
ขณะที่การประชุม กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม จะหารือในประเด็นสำคัญคือ การทบทวนและกำหนดทิศทางความร่วมมือ ในอนาคตของกรอบ MLC โดยประเทศไทย จะผลักดันความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 และปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด และอาชญากรรมไซเบอร์ ตลอดจนการฉ้อโกงผ่านช่องทางโทรคมนาคม
นอกจากนั้น ยังมีการหารือความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย และตอบโจทย์การพัฒนาในบริบท ความท้าทายปัจจุบันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน