วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 5 ภูมิภาค จัดทำข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายในการรับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

Related Posts

กสม. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 5 ภูมิภาค จัดทำข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายในการรับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อนหรือโลกเดือด ถือเป็นวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภาวะน้ำท่วม น้ำแล้งที่ไม่สอดคล้องตามฤดูกาล อันคุกคามและส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ เด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานอพยพข้ามชาติ ฯลฯ ที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

จากรายงาน Emissions Gap Report 2023 ที่จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปด้วยแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น โดยพบว่าในปี 2565 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 57.4 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) ซึ่งเติบโตร้อยละ 1.2 จากปีก่อนหน้า โดยภาคพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและกระบวนการทางอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน

จากการจัดอันดับขององค์กร Global Climate Risk Index (CRI) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในระหว่าง ปี 2543 – 2562 โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ก็เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงสุด และภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบสูงสุด

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า ในการรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว รัฐมีพันธกรณีหลักภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนในการบรรเทาปัญหาและทำให้ทุกคนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยจำเป็นต้องมีการบัญญัติกฎหมายเพื่อป้องกันและตอบสนองต่ออันตรายทางสิ่งแวดล้อมที่อาจหรือขัดขวางการใช้สิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี นโยบายการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางประการ หากไม่มีการพิจารณาแง่มุมสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้เช่นกัน เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการพลังงานลมและความร้อนใต้พิภพ หรือ การผลิตแบตเตอรี่ทดแทนรวมถึงแร่สกัด อาจนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินของชุมชนท้องถิ่นและทำลายระบบนิเวศที่สำคัญในธรรมชาติ หรือโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันชายฝั่งถูกกัดเซาะที่ปกป้องชุมชนหนึ่งก็อาจทำให้อีกชุมชนหนึ่งมีความเสี่ยงต่อปัญหาการกัดเซาะหรือน้ำท่วม นอกจากนี้ โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มุ่งเน้นเพียงบทบาทของการอนุรักษ์ก็อาจละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นได้

กสม. ได้ติดตามการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขวิกฤตการณ์โลกร้อนหรือโลกเดือดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่


(1) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ยกร่างโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(2) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และ
(3) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. …. ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

เพื่อให้การจัดทำกฎหมาย นโยบาย และมาตรการในการจัดการกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสอดคล้องและไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน กสม. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอแนะกฎหมายและนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน เพื่อรับฟังและรวบรวมข้อมูลความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ จัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายที่ตอบสนองต่อวิกฤติโลกร้อนหรือโลกเดือดบนหลักคิดด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างรอบด้านเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ กสม. ได้ร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัดให้มีเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนทั้งสิ้น 5 ภูมิภาค โดยดำเนินการไปแล้ว 2 ภูมิภาค ได้แก่ (1) พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (2) พื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่ และหลังจากนี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในอีก 3 ภูมิภาค ได้แก่ (1) พื้นที่ภาคตะวันออก ในวันที่ 7 กันยายน 2567 ณ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี (2) พื้นที่ภาคใต้ ในวันที่ 13 กันยายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จังหวัดพัทลุง และ (3) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 20 กันยายน 2567 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยขอเชิญผู้สนใจภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมให้ความเห็นได้ในวัน เวลา และสถานที่ข้างต้น หรือผ่านระบบออนไลน์ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts