วันศุกร์, กันยายน 27, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเกษตรบี้รัฐฟันต้นตอปลาหมอคางดำระบาด

Related Posts

บี้รัฐฟันต้นตอปลาหมอคางดำระบาด

“….คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ที่มี นพ. วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ และ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธาน พร้อมคณะอนุกรรมการ ได้ร่วมกันเปิดแถลงถึงผลการศึกษาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลว่าระบาดไปแล้ว 79 อำเภอ 19 จังหวัดว่า  ทางอนุกรรมาธิการฯได้ศึกษาสาเหตุของปัญหาแล้ว พบว่าปรากฏข้อมูลชัดเจนว่ามีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักร เห็นว่ารัฐควรดำเนินการสอบหาผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 โดยหน่วยงานของรัฐที่ควรเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้แก่ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ…”

บี้รัฐฟันต้นตอปลาหมอคางดำระบาด

อนุ กมธ.แถลงรายงานผลศึกษายันข้อมูลชัด

เอกชนรายเดียวนำเข้า

อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำแถลงผลศึกษาสาเหตุการระบาด พบเอกชนรายเดียวนำเข้า-ต้นตอแพร่ระบาด ยันผลตรวจสอบเชิงลึกถึงดีเอ็นเอพบมาจากแหล่งเดียวกัน จี้รัฐออกหน้าเสื่อสอบหาผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ที่มี นพ. วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ และ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธาน พร้อมคณะอนุกรรมการ ได้ร่วมกันเปิดแถลงถึงผลการศึกษาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลว่าระบาดไปแล้ว 79 อำเภอ 19 จังหวัดว่า

ทางอนุกรรมาธิการฯได้ศึกษาสาเหตุของปัญหาแล้ว พบว่าปรากฏข้อมูลชัดเจนว่ามีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีการขออนุญาตนำเข้าครั้งแรกเมื่อปี 2549 ได้รับอนุญาตแล้ว แต่บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการนำเข้า จนกระทั่งปี 2551 บริษัทได้ขออนุญาตนำเข้าต่อกรมประมงอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้นำเข้า

กระทั่งปี 2553 บริษัทขออนุญาตต่อกรมประมง ครั้งนี้ได้รับอนุมัตินำเข้า ก่อนที่บริษัทจะมีการนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัวจากสาธารณรัฐกานา โดยแจ้งว่าเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ณ ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ต่อมาเมื่อเกิดการระบาด กรมประมงศึกษาวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร พบว่า แต่ละประชากรย่อยไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมากนัก บ่งชี้ว่าประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน

นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่า การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำมีลักษณะเป็นหย่อมๆ ไม่เชื่อมกัน บ่งชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่อาจมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำโดยการกระทำของมนุษย์มากกว่าการแพร่กระจายไปตามเส้นทางน้ำที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล

ล่าสุดเมื่อส.ค.2567 กรมประมงได้นำข้อมูลลำดับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดใน 6 จังหวัดซึ่งเก็บอยู่ในธนาคารพันธุกรรมหรือ DNA Bank ของกรมประมง ประกอบกับการสนับสนุนข้อมูลจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าปลาหมอคางดำที่เก็บตัวอย่างจาก 6 จังหวัดที่มีรายงานการระบาดในช่วง พ.ศ. 2560-2564 อยู่ในกลุ่มเดียวกัน กับตัวอย่างข้อมูลทางพันธุกรรมที่มาจากประเทศกานาและโกตดิวัวร์

“คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่ารัฐควรดำเนินการสอบหาผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 โดยหน่วยงานของรัฐที่ควรเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้แก่ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts