กสม. ชี้กรณีเปลี่ยนแปลงรายการเอกสารทะเบียนราษฎรจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่นล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิ แนะกรมการปกครองเร่งรัดและกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงาน – มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแจ้งข้อห่วงกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง แนะรับฟังความคิดเห็นรอบด้านและศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 33/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. ชี้กรณีเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่นล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิ แนะกรมการปกครองเร่งรัดและกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงาน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านคลินิกสิทธิมนุษยชนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ระบุว่า มารดาของผู้ร้องเป็นคนไทยพลัดถิ่นย้ายจากประเทศเมียนมาเข้ามาอาศัยกับญาติในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 ต่อมาเมื่อปี 2549 มารดาได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และเมื่อปี 2554 ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลฯ เป็นบุคคลเลขประจำตัวประเภท กลุ่ม 89 คือ กลุ่มคนไร้รากเหง้า โดยบัตรซึ่งออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จะหมดอายุในเดือนตุลาคม 2575 ทำให้มารดาไม่สามารถยื่นคำร้องขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ผู้ร้องจึงยื่นคำขอต่อปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร สำนักทะเบียนอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา (ผู้ถูกร้อง) ให้แก้ไขรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรของมารดาจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยได้ยื่นเอกสารหลักฐานทุกอย่างตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้รับใบรับคำร้องไว้เป็นหลักฐานจากผู้ถูกร้อง และเมื่อระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควร ณ ขณะวันที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. ผู้ถูกร้องก็ยังไม่ดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลให้เสร็จสิ้นเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงขอให้เร่งรัดการดำเนินการ
กรณีดังกล่าวในเบื้องต้น กสม. ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสอบถามไปยังผู้ถูกร้องแต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จึงมีมติรับไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ข้อ 16 รับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่า เป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า มารดาของผู้ร้องได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนบุคคลที่ไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 แต่ภายหลังรายการในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของผู้เสียหายไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถขอใช้สิทธิในการกำหนดสถานะบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรือตามกฎหมายกำหนดได้ จึงยื่นขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรของผู้เสียหายจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อผู้ถูกร้อง ผู้ถูกร้องไม่ได้ออกใบรับคำร้องไว้ให้ ซึ่งไม่สอดคล้องและเป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 116 ที่กำหนดให้นายทะเบียนออกใบรับคำร้องมอบให้ผู้ยื่นคำร้องไว้เป็นหลักฐานหากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่อาจดำเนินการได้แล้วเสร็จในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง
ส่วนการที่ผู้ถูกร้องดำเนินการพิจารณาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรล่าช้า เห็นว่า หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุด ที่ มท 0309.1/ว 151 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เรื่อง การแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ปัญหาด้านสถานะบุคคลและสัญชาติ) กำหนดว่า การแก้ไขกลุ่มทางทะเบียนบุคคลที่จัดทำทะเบียนไว้ผิดกลุ่มนั้น ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นทุกสำนักทะเบียนที่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ถือปฏิบัติตามหนังสือสั่งการ โดยให้พิจารณาหลักฐานของผู้ร้องเป็นสำคัญ ไม่ว่าพื้นที่สำนักทะเบียนนั้นจะเคยมีการขึ้นทะเบียนชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผู้ร้องอ้างถึงหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี แม้หนังสือสั่งการดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคำขอไว้ แต่ผู้ถูกร้องควรพิจารณาคำขอและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบภายในระยะเวลาอันสมควร ซึ่งการพิจารณาเพื่อออกคำสั่งของหน่วยงานรัฐ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา วางแนวคำวินิจฉัยไว้ว่า ควรมีระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่บุคคลยื่นเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้พิจารณาออกคำสั่งโดยเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 45
ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องพิจารณาคำขอโดยใช้เวลาเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำขอเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎร จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องพิจารณาคำขอล่าช้าเกินสมควร กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพที่ผู้เสียหายคือมารดาของผู้ร้องพึงจะได้รับ จึงเป็นกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เสียหาย
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่า นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อผู้ถูกร้องเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนราษฎรจนถึงวันที่จัดทำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบพิจารณาคำขอของผู้เสียหายได้เปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานแล้วจำนวน 3 คน เนื่องจากย้ายไปปฏิบัติราชการในฝ่ายอื่นหรือที่อื่น จึงเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่องและเกิดความล่าช้าอันส่งผลกระทบต่อสิทธิที่บุคคลจะได้รับตามกฎหมาย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร สำนักทะเบียนอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ผู้ถูกร้อง และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดพิจารณาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนราษฎรให้แก่ผู้เสียหายตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนด และให้กรมการปกครองใช้รายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ กำชับสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นแต่ละแห่งเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการไม่ออกใบรับคำร้องให้แก่ผู้ยื่นคำร้องและการพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรให้แก่ผู้ประสบปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็วหรือดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ให้กรมการปกครองทบทวนระเบียบหรือหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนตามระเบียบหรือหนังสือสั่งการเพื่อเป็นกรอบระยะเวลาสำหรับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ด้วย