ย้อนรอยดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ “ทรู-ดีแทค” หลังกลุ่มทุนยักษ์ ซีพี.พลิกตำราควบรวมตามรอยค้าปลีก ค้าส่ง ด้าน กสทช.รักษาการเด้งรับเร่งรัดกระบวนการพิจารณา สุดอึ้ง! จ้างที่ปรึกษาอิสระทำความเห็นแค่ 1 เดือน หวังปิดเกมควบรวมก่อนกสทช.ชุดใหม่รับหน้าที่ สุดท้ายต้องปิดเกม หลังโปรดเกล้าฯกสทช.ชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อ วงในเชื่อเกมพลิกแน่!
กำลังเดินมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้ง สำหรับ “ดีล”ควบรวมกิจการโทรคมนาคม “ทรูและดีแทค” ที่เป็นประเด็นสุดฮอต เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมตลอดข่วง 4-5เดือนที่ผ่านมา หลังสองผู้บริหารทรูและดีแทคประกาศความร่วมมือในการควบรวมกิจการที่จะนำไปสู่การควบรวมกิจการระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.64
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ของนักวิชาการจากทุกภาคส่วนและภาคประชาชนที่เห็นว่า ดีลควบรวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศอย่างรุนแรง จนถึงขนาดที่อาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศรวม 87 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตรวจสอบการควบรวมกิจการ “ทรู -ดีแทค” อย่างเข้มข้น
โดยระบุว่า หากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จ จะเหลือผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 รายจากเดิม 3 ราย ถือเป็นระดับการกระจุกตัวที่เข้มข้นที่สุดที่เชื่อว่า น่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อระดับการแข่งขัน และสวัสดิการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวมทั้งปัจจุบันและใอนาคตอย่างรุนแรง
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร ได้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นศึกษาและตรวจสอบกรณีการควบรวมกิจการทารคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค และกรณีควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งก่อนหน้าว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อสภาพการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 90 วัน แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทวนเส้นทางการควบรวมกิจการทรูและดีแทคที่ว่านี้ได้ สองบริษัทสื่อสารยังคงเดินหน้าเจรจาควบรวมกิจการ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานแต่อย่างใด ทั้งยังได้เร่งรัดกระบวนการควบรวมกิจการ โดยได้ยื่นเรื่องขออนุมัติควบรวมกิจการตามประกาศ กสทช.นับแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา
กสทช.กับการลดทอนอำนาจตนเอง!
แม้ดีลควบรวมกิจการทรูและดีแทคดังกล่าว จะถูกนักวิชาการจากทุกภาคส่วน รวมทั้งกระแสสังคมรุมคัดค้านอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกรณีเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลได้เข้ามาตรวจสอบกรณีควบรวมกิจการในครั้งนี้อย่างเข้มข้น แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.) กลับออกตัว โดยยืนยันว่า ไม่สามารถก้าวล่วงลงไปพิจารณากรณีดังกล่าวได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
แต่เมื่อสแกนลงไปพิจารณากฎหมายและเครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช.โดยตรง ที่แม้จะถอดรูปแบบมาจาก กฎหมายแข่งขันทางการค้า และมีกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมนับสิบฉบับ แต่กลับพบว่า กสทช.กลับออกตัวว่า ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณายับยั้งกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมทรู-ดีแทคได้ นอกจากการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เท่านั้น โดยอ้างว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประกาศที่กสทช.แก้ไข และยกเลิกประกาศ กสทช.เดิมปี 2553 นั้น ได้จำกัดอำนาจหน้าที่ของกสทช.ให้เหลืออยู่เพียง “รับทราบ”การควบรวมกิจการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.แจ้งมาเท่านั้น ไม่สามารถจะทัดทานหรือสั่งห้ามได้ แม้การควบรวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดและจำกัดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็ตาม
ผลพวงจากประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่เป็นการปรับปรุงประกาศเดิมของตนเองให้มีความรัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น แต่กลับตัดแขนขาของตนเองลงไปนั้น ทำให้กระแสสังคม และนักวิชาการจากทุกภาคส่วนจึงต่างออกโรงเรียกร้องให้ “กสทช.ชุดใหม่” ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และที่ประชุมวุฒิสภาได้โหวตให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้าตั้งแต่ปลายปี 2564 ได้เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลและพิจารณาดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้อย่างเป็นรูปธรรม
สุดอึ้ง! จ้างที่ปรึกษาอิสระแค่1เดือนปิดดีล
น่าแปลก! แม้ที่ประชุมวุฒิสภา จะลงมติให้ความเห็นชอบ กสทช.ชุดใหม่ ตามที่สำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหาฯ ได้นำเสนอรายชื่อบุคคลผู้ได้รับการสรรหาให้เป็น กสทช.ชุดใหม่ไปตั้งแต่ปลายปี 64 ไปแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 5 ใน 7 รายชื่อ กสทช.ชุดใหม่เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที
ก่อนที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะเชิญว่าที่ กสทช.ชุดใหม่มาประชุมเพื่อคัดเลือกกันเองเป็นประธาน กสทช.และได้แจ้งรายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่มายังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งนั่นหมายความว่า กสทช.รักษาการ ที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขประกาศ กสทช.ที่ว่าด้วยการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการควบรวมกิจการ ไม่ควรจะไปพิจารณาเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศได้อีก แต่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาโม่แป้งเอง
แต่กลับปรากฏว่า ระหว่างรอ กสทช.ชุดใหม่ กลับมีเรื่องพิสดารเกิดขึ้นเมื่อมี “มือที่มองไม่เห็น-หรือ Invisible Hand ล้วงลูกเข้ามาสอดแทรกกระบวนการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ที่ว่านี้ โดยยังคงส่งสัญญานไปยัง กสทช.ชุดเดิมที่ได้เก็บข้าวของออกจากสำนักงาน กสทช.ไปแล้ว ให้กลับมาทำหน้าที่อยู่ต่อไป เนื่องจากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ กสทช.ชุดใหม่ลงมา โดยที่ประชุม กสทช.ชุดรักษาการได้จัดประชุมกสทช.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 โดยรักษาการประธานกสทช.ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ให้ทำหน้าที่ต่อไปเนื่องจากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯกรรมการ กสทช.ชุดใหม่
ก่อนที่ในอีกสัปดาห์ต่อมา (9 .ก.พ.65) ที่ประชุม กสทช.จะพิจารณากรณีการยื่นขอควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค และมีมติแต่งตั้ง “ที่ปรึกษาอิสระ” ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำรายงานความเห็นต่อการควบรวมภายใน 30 วันตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
17 มี.ค.65 ที่ปรึกษาอิสระที่ กสทช.ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาจัดทำความเห็นประกอบได้จัดส่งรายงานความเห็นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทคต่อสำนักงาน กสทช. แต่อนุกรรมการ กสทช.เห็นว่า รายงานของที่ปรึกษายังขาดความสมบูรณ์และครอบคลุม จึงสั่งให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม พร้อมว่าจ้าง จุฬาฯจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์กรณีการควบรวมทรู-ดีแทคอีกฉบับเพื่อประกอบความเห็น จึงทำให้เส้นทางปิดดีลควบรวมที่วางเกมกันเอาไว้ก่อนหน้าเดินมาถึง”จุดพลิกผัน”ที่ไม่อาจจะเร่งรัดปิดดีลควบรวมได้ทัน
ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศสำนักนายกฯเรื่องการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า กสทช.ชุดใหม่จะมีการดึงเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณากันใหม่ยกกระบิ และน่าจะสั่งให้มีการศึกษาข้อกฎหมายกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในเรื่องนี้กันใหม่
“น่าแปลกที่ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.จัดจ้างที่ปรึกษาอิสระขึ้นดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำความเห็นประกอบการขออนุมัติควบรวมกิจการในครั้งนี้ และใช้เวลาดำเนินการศึกษา จัดทำความเห็นเพียง 1 เดือนเท่านั้นก็ส่งรายงานต่อสำนักงานกสทช.แล้ว ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่มีผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศในภาพรวม แต่ที่ปรึกษาอิสระกลับสามารถเร่งรัดดำเนินการศึกษาและนำเสนอรายงานได้ภายในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ก่อนที่อนุกรรมการ กสทช.จะตีกลับให้ไปดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้เห็นถึงความรีบเร่งกระบวนการควบรวมกิจการดังกล่าวที่หวังจะปาดหน้าเค้ก เร่งรัดกระบวนการควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จก่อนที่ กสทช.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช.ใหม่ลงมา กระบวนการควบรวมที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้คงจะต้องถูกดึงกลับมาพิจารณากันใหม่ และสำนักงาน กสทช.คงจะมีการรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดกสทช.ชุดใหม่อีกครั้ง เพื่อขอรับนโยบายใสนเรื่องนี้ แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่า กสทช.ชุดใหม่คงจะไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุนการเมืองที่หวังจะยืมมือเพื่อให้ไฟเขียวการควบรวมกิจการไปได้ง่าย ๆ ได้ แต่เชื่อว่าหากจะอนุมัติควบรวมจริงจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขก่อนการควบรวมที่เข้มงวดตามมาแน่ เพื่อจะไม่ผิดพลาดเช่นกรณีที่บอร์ด กขค.อนุมัติการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งไปก่อนหน้านี้!
Time Lime ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”
22 พ.ย.64 เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศความร่วมมืออย่างเท่าเทียมในการสนับสนุนการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด(True)และบมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่นจำกัด(Dtac) เพื่อร่วมจัดตั้งบริษัท Telecom-Technology Company โดยกำหนดการแลกหุ้นเบื้องต้นในอัตรา 1 หุ้นเดิมในทรูต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมในดีแทคต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่
24 พ.ย.64 สำนักงาน กสทช.มีหนังสือแจ้งไปยังทั้งสองบริษัทขอให้บริษัท ชี้แจงธุรกรรมการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องเหตุผลความจำเป็น รูปแบบการดเนินการ รายละเอียด และกำหนดเวลาตามแผนดำเนินการ รวมทั้งแรนวทางเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อผู้ให้บริการและตลาดที่เกี่ยวข้อง
26 พ.ย.64 นายธนกฤต วรธนัชชากุล ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นต่อกรณีการควบรวมทรู-ดีแทคว่า กสทช.มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาดีลควบรวมดังกล่าวอย่างเต็มที่ในการควบคุมดูแลและป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดในการประกอบกิจการโทรคมนาคม
13 ธ.ค.64 อาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ รวม 87 คน ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการควบรวมกิจการ “ทรู -ดีแทค” โดย ระบุว่าหากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จ จะเหลือผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 รายจากเดิม 3 ราย ถือเป็นระดับการกระจุกตัวที่เข้มข้นที่สุดที่เชื่อว่าน่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อระดับการแข่งขัน และสวัสดิการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่
20 ธ.ค.64 ที่ประชุมวุฒิสภาโหวตให้ความเห็นชอบผลสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จำนวน 5 ใน 7 คน ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรหา นำเสนอ ประกอบด้วย 1.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 2.ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต 3.ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ 4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ 5.รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
27 ธ.ค.64 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทคและการค้าปลีก-ค้าส่ง มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นประธาน กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการศึกษาและตรวจสอบ 90 วัน
14 ม.ค.65 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เชิญผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กสทช.ชุดใหม่จำนวน 5 คนประชุมร่วมกันเพื่อเลือกประธาน กสทช. โดยที่ประชุมมีมติเลือกศ.คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานกสทช.และนายพรเพชร วิชิตพลชัย ประธานวุฒิสภาส่งหนังสือแจ้งรายชื่อ กสทช.ชุดใหม่ไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ เพื่อนำความกราบบังคมทูลฯเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
25 ม.ค.65 บริษัททรู และดีแทค ยื่นรายงานต่อ กสทช.แจ้งความประสงค์ในการขออนุญาตควบรวมกิจการทรู-ดีแทค เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งตามประกาศ กสทช.กำหนดให้ต้องพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่บริษัทยื่นขออนุญาต
28 ม.ค.65 พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกสทช.ทำหน้าที่รักษาการประธาน กสทช.เรียกประชุม กสทช.ชุดเดิม เพื่อแจ้งให้ทำหน้าที่ต่อไป เนื่องจากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯกรรมการ กสทช.ชุดใหม่
9 ก.พ.65 ที่ประชุม กสทช.ชุดรักษาการได้รับทราบรายงานการยื่นขออนุมัติควบรวมกิจการทรู-ดีแทค และมีมติให้แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำรายงานความเห็นต่อการควบรวมภายใน 30 วัน ตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
14 ก.พ.65 สภาองค์กรผู้บริโภค(สอบ.) ยื่นหนังสือต่อสำนักงาน กสทช.เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติควบรวมกิจการทรู-ดีแทคเอาไว้ก่อน และเสนอให้รอคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอโปรดเกล้าฯ พิจารณา โดยระบุว่าหากมีการควบรวมกิจการจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลขที่น้อยลง อาจส่งผลกระทบต่อราคาค่าบริการ
17 มี.ค.65 ที่ปรึกษาอิสระที่ กสทช.ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาจัดทำความเห็นประกอบจัดส่งรายงานความเห็นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ TRUE – DTAC ต่อสำนักงาน กสทช. แต่อนุกรรมการ กสทช.เห็นว่ารายงานที่ปรึกษายังขาดความสมบูรณ์และครอบคลุม จึงสั่งให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม พร้อมว่าจ้างจุฬาฯจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์กรณีการควบรวมทรู฿-ดีแทคอีกฉบับเพื่อประกอบความเห็น
18 ก.พ.65 คณะกรรมการ (บอร์ด) ทรู และดีแทค อนุมัติควบรวมกิจการหลังผ่านขั้นตอนการสอบทาน Due Diligence
23 มี.ค.65 นายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(ซูเปอร์บอร์ด) ยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช.ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวม กรณีการควบรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นสูงสุดกับผู้ใช้บริการและประชาชน
25 มี.ค.65 บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด(AWN)ในเครือ AIS ทำหนังสือถึงประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียจากการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรูและดีแทค”ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ด้วย
4 เม.ย.65 ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทรู และดีแทค ไฟเขียวอนุมัติควบรวมกิจการและกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 วันที่ 4 เม.ย.2565
13 เม.ย.65 โปรดเกล้าฯ กสทช.ชุดใหม่ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย
- ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ
- พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
- ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ (ด้านกิจการโทรทัศน์)
- นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
- รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)โทรทัศน์)