นางสาวหรรษา หอมหวล เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee Against Torture) ครั้งที่ 81 ในโอกาสที่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานจะมีการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) หรือ Country report ฉบับที่ 2 ซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลไทย ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 คณะผู้แทน กสม. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานเป็นการเฉพาะ (private session) เพื่อให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ของประเทศไทย ก่อนที่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานจะพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT ของรัฐบาล ในการประชุมดังกล่าว กสม. ได้นำเสนอพัฒนาการที่สำคัญรวมทั้งประเด็นที่ยังเป็นข้อท้าทายในการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT เช่น การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน อายุความของความผิดที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง บทบาทของ กสม. ในการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังเพื่อป้องกันการทรมาน การปฏิบัติตามหลักการไม่ผลักดันหรือส่งตัวบุคคลไปยังดินแดนที่มีความเสี่ยงที่บุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการถูกทรมาน (non-refoulement) และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญา CAT (Optional Protocol to CAT: OPCAT) นอกจากนั้น ยังได้ตอบข้อซักถามของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในประเด็นต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯ สนใจเพิ่มเติม รวมถึงการดำเนินงานของ กสม. ในการรับเรื่องร้องเรียนการทรมานและการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง
จากนั้นในวันที่ 5 – 6 พฤศจิกายน 2567 กสม. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT ของประเทศไทย โดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมานได้มีการหยิบยกประเด็นตามรายงานคู่ขนานของ กสม. ขึ้นหารือกับคณะผู้แทนรัฐบาลไทยที่ไปนำเสนอรายงานด้วย เช่น การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการกระทำทรมาน กฎหมายความมั่นคง การควบคุมตัวตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การปฏิบัติต่อบุคคลในสถานที่คุมขัง และอำนาจของ กสม. ในการเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง เป็นต้น โดยคณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้ตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ ด้วยวาจา และจัดทำคำตอบเป็นเอกสารเพิ่มเติมภายหลังการพิจารณาดังกล่าว
นอกจากการประชุมกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแล้ว ประธาน กสม. และคณะยังได้พบหารือกับผู้อำนวยการสมาคมเพื่อป้องกันการทรมาน (Association for Prevention of Torture: APT) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความร่วมมือกับ กสม. ด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเกี่ยวกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติในการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังประเภทต่าง ๆ ตามพิธีสาร OPCAT นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับผู้อำนวยการ Universal Rights Group (URG) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และการติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเลขาธิการคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) เกี่ยวกับการดำเนินงานของ ICRC ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานการณ์ของผู้หนีภัยการสู้รบและผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา
การเข้าร่วมประชุมของ กสม. ครั้งนี้เป็นการส่งเสริมความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา CAT มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กสม. จะได้ติดตามข้อเสนอแนะหรือข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding observations) ของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานที่มีต่อรัฐบาลไทยต่อไป