เมื่อวันที่ 15 พ.ย.67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าว บุกจับป้าโหด ที่ชลบุรี ซื้อเด็ก 8 ขวบ จากเมียนมา บังคับใช้งานเยี่ยงทาส ไม่ถูกใจลงมือทุบตี นั้นทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี ได้พื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นพบว่าเด็กหญิงเอ (นามสมมติ) เป็นบุคคลต่างด้าว ไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ กับเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถบอกชื่อ อายุ และประวัติครอบครัวได้ ตรวจพบบาดแผลคล้ายถูกตีด้วยของแข็งไม่มีคมบริเวณเล็บมือ นิ้วมือ และแขนขา ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงนำส่งโรงพยาบาลชลบุรี เพื่อตรวจร่างกายและมวลกระดูกเพื่อให้ทราบอายุที่แท้จริง พร้อมทั้งนำส่งเข้ารับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดชลบุรี
หลังจากเด็กหญิงเอได้รับการฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ จึงเริ่มให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ จึงได้สัมภาษณ์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ร่วมกันกับทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี และพนักงานสอบสวนหญิง กก.2 บก.ปคม. พบว่า เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยถูกแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน และทราบว่าเด็กหญิงเอ เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จึงได้นำตัวเด็กหญิงเอ เข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคม. ทราบว่า นางสาว น. หญิงสัญชาติเมียนมา(ผู้ถูกจับที่ 2 ) เป็นผู้ที่เป็นธุระจัดหา ซื้อ เด็กหญิงเอ มาจากบิดามารดา โดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่บิดามารดาของเด็กหญิงเอ เพื่อให้ได้รับความยินยอมในการนำพาเด็กหญิงเอ มาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในประเทศเมียนมา โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดทำหนังสือการที่นางสาว น. รับเด็กหญิงเอ เป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง
จากนั้นใช้ให้บุคคลอื่นนำพาเด็กหญิงคนดังกล่าว ผ่านช่องทางธรรมชาติเข้ามาในประเทศไทยที่จังหวัดตากโดยผิดกฎหมาย แล้วส่งตัวมายังบ้านพักของนาย ส. (ผู้ถูกจับที่ 3 ) และ นางสาว น. (ผู้ถูกจับที่ 2 ) ที่บ้านพัก อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และร่วมกันให้เด็กหญิงเอ ซึ่งเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวเพื่อให้พ้นการจับกุม ก่อนส่งตัวไปยังบ้านพักของนางสาว พ. (ผู้ถูกจับที่ 1 ) แห่งหนึ่ง ใน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี เพื่อให้ทำงานบ้านร่วมกับหญิงสัญชาติเมียนมา แต่จากการตรวจสอบข้อมูล ไม่พบประวัติการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวของนางสาว พ. แต่อย่างใด โดยนางสาว พ. มีการทำโทษให้เด็กหญิงเอ โดยการใช้ไม้ตี มีการนำตัวมากักขังไว้ในห้องภายในบ้านโดยไม่ให้รับประทานอาหาร เป็นการลงโทษเมื่อทำความผิด และไม่ให้เด็กหญิงเอเดินทางกลับบ้าน ซึ่งการกระทำดังกล่าว ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงเอ อายุประมาณ 10 – 11 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เป็นบุคคลต่างด้าว สัญชาติเมียนมาที่ถูกลักลอบนำพาเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย และไม่มีที่พึ่งที่อื่นใด เป็นการทำให้เด็กหญิงคนดังกล่าว อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และจำต้องทำงาน จนกระทั่งมีการหลบหนีออกมา
และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปคม. ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายค้น บ้านของนางสาว พ.(ผู้ถูกจับที่ 1 ) อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี และได้ช่วยเหลือ เด็กหญิงอีกคนหนึ่ง ชื่อเด็กหญิงบี (นามสมมติ) ที่ได้ทำงานอยู่ในบ้านดังกล่าวออกมาด้วย และเชื่อว่าน่าจะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยการบังคับแรงงานเช่นกัน เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี จึงได้นำเด็กหญิงบี เข้าตรวจร่างกาย และมวลกระดูก และนำส่งเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ที่มูลนิธิบ้านอิสระ จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นการฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ โดยทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี จะประชุมทีมสหวิชาชีพเพื่อคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อีกครั้ง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปคม. ได้ตรวจยึดพยานหลักฐานสำคัญจากเมมโมรี่ของกล้องวงจรปิด ซึ่งบันทึกภาพพบว่ามีเด็กหญิงซี อีกคนหนึ่งที่เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน แต่หลบหนีไปขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังจะเข้าตรวจค้น และสามารถยึดบันทึกภาพขณะที่นางสาว พ. กำลังขู่ตะคอกเด็กหญิงบี และเด็กหญิงซี เมื่อทำงานผิดพลาด และภาพขณะที่นางสาว พ. ทุบตีทำร้ายร่างกายเด็กหญิงซี พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายจับ ผู้ถูกจับทั้งสามราย ตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ได้ร่วมกันจับกุมตัวมาส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคม.เพื่อดำเนินคดีและติดตามค้นหาเด็กหญิงซีด้วย