ศาลแขวงดุสิต สั่งจำคุก “สนธิญา” 6 เดือน และปรับ 2 หมื่นบาท รับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ในคดีหมิ่นประมาท “เสรีพิศุทธ์”
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ศาลแขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นฟ้อง นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษา กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตกเป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 326 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 2 หมื่นบาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 20.
ย้อนปมกรณีพิพาทกับ ‘เสรีพิศุทธ์’
- ถวายสัตย์
ที่ผ่านมา นายสนธิญามีข้อพิพาทกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หลายครั้ง อย่างเช่นเมื่อเดือน พ.ย. 2562 นายสนธิญา เคยร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยรายนี้ ซึ่งนายสนธิญาอ้างว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประพฤติตัวไม่เหมาะสมจากการเรียก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาชี้แจงเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2562
- พรบ.งบฯ 63
เมื่อเดือน ก.พ. 2563 นายสนธิญา ก็ร้องเรียนต่อ กกต. ให้ยุบพรรคเสรีรวมไทยอีก โดยอ้างว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เพราะหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยรายนี้ข่มขู่ว่าถ้าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คนใดลงมติรับร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะถูกดำเนินคดี
- เลือกตั้งซ่อมลำปาง
ต่อมาเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 นายสนธิญา ก็ร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ อ้างว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปราศรัยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ลำปาง ว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ
- สถานภาพ ส.ส.
ไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อประมาณช่วงเมษายน ปี 2564 นายสนธิญา ยังร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่าถูกกฎหมายหรือไม่ โดยอ้างว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เคยถูกคำสั่งให้ออกจากราชการ
นายสนธิญา เคยสงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในนามพรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อปี 2554 และลงสมัครที่เขต 1 จ.สมุทรสาคร ในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย เมื่อปี 2562 แต่แพ้ให้พรรคอนาคตใหม่
ต่อมานายสนธิญาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากการเป็นข่าว ไปร้องเรียนบุคคลต่างๆ ที่มีแนวคิดไม่ตรงกับรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งยังเคยยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรมของคนในวงการบันเทิงที่วิจารณ์รัฐบาลด้วย หนึ่งในนั้น คือ แร็ปเปอร์วัย 19 ปี มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล
ทำความรู้จักกับ ประวัติ สนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐคนนี้ให้มากขึ้นซักหน่อย
ประวัติที่น่าสนใจของนายสนธิญา สวัสดี
- ชื่อจริง นายสนธิญา สวัสดี
- ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- จบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายสนธิญา สวัสดี เป็นอดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์พัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนใต้ (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เขาศึกษาทางด้าน สังคมศึกษา และ รัฐศาสตร์ ตามลำดับ นอกจากนั้นเขายังเป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ อีกด้วย
ชื่อของ สนธิญา สวัสดี กลายเป็นจุดสนใจ และถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลมากมาย หลังจากที่เขาได้ออกมายื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตรวจสอบกลุ่มศิลปินดารา และเหล่าผู้มีชื่อเสียงกว่า 20 คน ออกมา Call Out เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยน และอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ , พ.ร.ก.ฉุกเฉิน , และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ นั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูล : สนธิญา สวัสดี