เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 หรือ 76 ปีก่อน ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองและประกาศใช้ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองเอกสารสำคัญฉบับนี้ เพื่อยืนยันว่าคนทุกคนล้วนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน และไม่อาจแบ่งแยกได้ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ภาษา สีผิว หรือสถานะใด ๆ ที่จะทำให้มนุษย์ต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง
ทุกวันนี้ มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม ได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และต้องเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางออนไลน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ซึ่งถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด
สถานการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดี ความมั่นคง และความปลอดภัยของเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ เด็ก และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน
ทุกคนจึงปรารถนาที่จะได้รับการปกป้องและคุ้มครอง “สิทธิมนุษยชน” โดยเราต้องร่วมกันหาหนทางที่ทำให้เพื่อนมนุษย์เข้าถึงและก้าวไปสู่โลกที่พัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล (International Human Rights Day) 10 ธันวาคม ภายใต้แนวคิด “Our rights, our future, right now.” ของสหประชาชาติ ประจำปี 2567 นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกับ “สิทธิมนุษยชน” ในฐานะที่เป็นรากฐานของสันติภาพ เป็นแนวคิดหลักของการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า เพื่อเสริมพลังให้ทุกคนได้เข้าถึงและใช้สิทธิที่พึงมี และก้าวสู่โลกอนาคตที่ยุติธรรมไปพร้อมกันอย่างเสมอภาค