วันที่9 ธันวาคม 2567 พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท.จตช. และผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ผดุงศักดิ์ รักษาสุข ผบก.ภ.จว.จันทบุรี, พ.ต.อ.อรรฆพงษ์ สุนทรวิภาต รอง ผบก.ภ.จว.จันทบุรี, พ.ต.อ.พีรพล เสลารัตน์ ผกก.สส.ภ.จว.จันทบุรี และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับตำรวจ สภ.โป่งน้ำร้อน แถลงข่าวกรณีช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศกัมพูชา
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ผู้ปกครองของเหยื่อ ประกอบด้วย นางสุลาวัลย์ เจริญรัมย์, น.ส.วันดี รวงผึ้ง และนางเนตยา แสงทอง ได้เดินทางมาพบ พล.ต.ต.ผดุงศักดิ์ รักษาสุข ผบก.ภ.จว.จันทบุรี เพื่อร้องทุกข์และขอให้ช่วยเหลือบุตรหลานที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่
- น.ส.วาสินี (บุตรสาวของนางสุลาวัลย์)
- นายเวทสิทธิ์ (บุตรชายของน.ส.วันดี)
- นายธรรมรัตน์ (หลานชายของนางเนตยา)
จากการสืบสวนทราบว่า เหยื่อทั้ง 3 ราย ได้ถูกหลอกให้ทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อยู่ในพื้นที่กรุงบาร์เวต (BARVET) จังหวัดสวายเรียง ประเทศกัมพูชา โดยถูกบังคับให้สร้าง Facebook ปลอม หลอกให้เหยื่อโอนเงินลงทุน โดยต้องทำยอดหาเงินให้ได้ เดือนละ 500,000 บาท ถ้าหากทำยอดไม่ได้ต้องไปหลอกญาติพี่น้องของตนเอง และได้มีการทำสัญญาว่าจ้างในการทำงานดังกล่าว
ต่อมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ทหารของประเทศกัมพูชาสามารถช่วยเหลือเหยื่อออกมาได้สำเร็จ และนำตัวไปยังสถานีตำรวจในประเทศกัมพูชา จากนั้นรัฐบาลกัมพูชาได้ประสานส่งตัวผู้ถูกหลอกกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 7 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 11.00 น. ผ่านช่องทางด่าน ตม.อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
ตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี ได้จัดกำลังเฝ้าสังเกตการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและญาติของเหยื่อ ณ จุดรับตัว พบว่ามีเหยื่อทั้งหมด 10 ราย แบ่งเป็นชาย 9 ราย หญิง 1 ราย ซึ่งทั้งหมดแสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจภูธรภาค 2 ที่สามารถช่วยเหลือและพากลับสู่ประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรักษาราชการแทน จเรตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับเหยื่อคนไทย ที่อ้างว่าถูกหลอกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนี้ ได้สั่งการให้สอบปากคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งสืบหาข้อเท็จจริง แล้วนำเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดย เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดจันทบุรี ว่าเข้าข่ายการค้า ม นุษย์หรือไม่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ต้องเร่งตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการช่วยเหลือประชาชนจากการถูกล่อลวงไปทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศ พร้อมฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่แอบอ้างหลอกลวงไปทำงานในต่างแดน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต.