วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร“ลวนลาม-ข่มขืนหญิง” ในสังคมไทย เหตุใด “ทรชน” จึงไม่เกรงกลัวอาญา?

Related Posts

“ลวนลาม-ข่มขืนหญิง” ในสังคมไทย เหตุใด “ทรชน” จึงไม่เกรงกลัวอาญา?

“…‘ชายทรชน’ ส่วนใหญ่ไม่เคยกลัวเกรงโทษอาญาที่สูงขึ้นนั้นกันแต่อย่างใด! เพราะล้วนรู้ดีว่า คดีความผิดทางเพศและทุกคดีในประเทศไทย ผู้เสียหายจะไม่สามารถร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งที่สถานีฯ หรือตำรวจหน่วยใด! เพราะปัญหาสารพัดของระบบงานสอบสวน การไม่อยากทำสำนวนของตำรวจ โดยใช้วิธี “ไม่ออกเลขคดี” เพราะจะมีปัญหาถูกผู้บังคับบัญชาด่าว่า ทำให้อาชญากรรมเกิดมากขึ้น ทำงานไม่เป็น!…”

นอกจากนั้นหญิงแทบทุกคนล้วน “หวาดหวั่นต่อความอับอาย” ในการที่จะเดินขึ้นไปพบพนักงานสอบสวนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหรือแม้กระทั่งหญิงที่สถานีฯ เพื่อเล่าเรื่องที่ถูกทำอนาจารหรือข่มขืนให้ฟัง โดยมี “ตำรวจชายหัวเกรียน” คอยเดินสอดส่อง หรือนั่งมองอยู่มากมาย!
ซ้ำการกระทำผิดทางเพศที่หญิง “บากหน้า” ไปร้องทุกข์นั้นส่วนใหญ่ ก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีอะไร เช่นในกรณีเดียวกันที่เกิดขึ้นเขต สน.ลุมพินี เมื่อปี 2563 ที่หญิงคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกข่มขืน ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ ชีวิตเธอก็มีแต่ “ความขมขื่น”
นอกจากได้รับความเสียหายและ “เกิดความอับอาย” แล้ว คดีก็ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่การแจ้งข้อหากับผู้กระทำผิดแต่อย่างใด!…”

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ เขียนถึงปัญหาหญิงสาวถูกข่มขืน ถูกลวนลามว่าระยะนี้มีการกระทำผิดอาญาสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชนหลายเรื่อง

นอกจาก คดีน้องแตงโม ที่เรื้อรังมากว่าสองเดือน และตำรวจ บอกผ่านทนายความ ว่า กำลังจะสรุปผลการสอบสวน นัดสื่อวันอังคาร จะชี้แจงให้ประชาชนทราบถึง พฤติการณ์ที่ตาย ว่า

น้องได้ พลัดตกจากเรือ และจมน้ำตายขาดอากาศหายใจโดยที่ไม่มีใครสามารถช่วยชีวิตได้ แม้กระทั่งการ “หยุดเรือหรือวกกลับมา” โยนเสื้อชูชีพหรือห่วงยางให้เกาะพยุงกายไว้ชั่วขณะไปได้อย่างไร?

ข้อเท็จจริงที่เกิด เป็นไปตามคำให้การของแซนในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์ แต่เพียงผู้เดียว ในจำนวนคนบนเรือขนาดเล็กอีกห้าคน? ซึ่งบอกว่า

น้องแตงโมได้ไปนั่งเกาะขาปัสสาวะบริเวณท้ายเรือและเสียหลักขณะลุกยืนขึ้น ทำให้พลัดตกน้ำไปจริงหรือไม่?

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ทั้ง ปอ โรเบิร์ต และแซน ถูกแจ้งข้อหากระทำประมาทด้วย “พฤติการณ์อย่างไร” ที่เป็นเหตุให้น้องแตงโมตกน้ำถึงแก่ความตาย?

ผู้รับผิดชอบการสอบสวนรวมทั้งพนักงานอัยการ “ผู้มีหน้าที่สั่งฟ้องคดี” ต้องอธิบาย?

อีกทั้งเป็นกรณีที่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า น้องแตงโม ซึ่งเป็นดาราสาวสวยและเป็นแขกคนสำคัญ จะทำเช่นนั้น ไม่ว่าสถานการณ์จะบีบบังคับแค่ไหน ก็น่าจะสามารถบอกผู้คุมเรือให้แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น แม้กระทั่งการเคลียร์ห้องน้ำขนาดเล็กบนเรือให้ใช้ได้

และเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชาวเรือว่า ไม่มีใครแม้กระทั่งผู้ชายเขาไปนั่งหรือยืนปัสสาวะตรงจุดที่สุดอันตรายนั้นกันแต่อย่างใด

เนื่องจากการทรงตัว ณ ตำแหน่งนั้นขณะเรือแล่น จะกระทำได้ยากอย่างยิ่งที่ นายท้ายผู้ขับเรือรวมทั้งผู้พบเห็นต้องไม่ยอมให้ใครทำเช่นนั้นเป็นอันขาด!

รวมทั้ง บาดแผลฉกรรจ์ที่ลึกและยาวประมาณหนึ่งคืบบริเวณขาอ่อนด้านขวา เกิดจากการโดนวัตถุชนิดใด?

ตำรวจ ผู้รับผิดชอบการสอบสวนตามกฎหมาย ก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อถือยอมรับได้ ไม่ใช่พูดมั่วๆ ว่า น่าจะเกิดจาก “ใบพัด” หรือ “ฟินเรือ” บาดเอาหลังจากที่พลัดตกลงไป

ซึ่งในข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชาวเรือเช่นกันว่า “เป็นไปไม่ได้”

เนื่องจากพลังน้ำด้านท้ายเรือจะดันวัตถุทุกชนิดที่ตกลงไปออกทั้งสองข้างตลอดเวลาขณะที่เรือแล่นไปข้างหน้า

รวมทั้งเส้นผมของน้อง พฐ.ตรวจพบบริเวณท้ายเรือ “เมื่อใด” ในการตรวจครั้งที่เท่าใด และเหตุใดการตรวจครั้งแรกจึงไม่พบ ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องตรวจเป็นลำดับแรก?

อีกคดีหนึ่งซึ่งอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนไม่แพ้กันก็คือ กรณีรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำอนาจารหญิงสาวอายุ 18 ในห้องอาหารแห่งหนึ่ง

ซึ่งหลังจากนั้นก็มีหญิงแสดงตัวเป็นผู้เสียหายอีกมากมายว่าได้ถูกกระทำลวนลามเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งบางคนถึงขั้นข่มขืน บนคอนโดมิเนียมที่ชายพักอาศัย เหตุเกิดมานานหลายปี

รวมทั้งหมดจนถึงขณะนี้ น่าจะมีการแจ้งความกล่าวหารวมทั้งสิ้น 14 คดี

การพิสูจน์ความจริงในคดีแรก ที่กล่าวหาว่าเป็นการ “กระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล”

คือ “กระทำลามกในสถานที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก” โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือในสภาวะที่หญิงไม่สามารถขัดขืนได้

ซึ่งเป็นการกระทำผิดอาญาที่ไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์ยอมความกันได้เช่นในอดีต

คดีต้องเดินไปตามกฎหมายรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ว่า รองหัวหน้าพรรคคนนั้น ได้กระทำการอันถือว่า “ลามกต่อหน้าธารกำนัลโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือหญิงอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้อย่างไร?”

ในอดีต ประมวลกฎหมายอาญาที่บังคับใช้ในสังคมไทยตั้งแต่ ปี 2478 บัญญัติให้คดีความผิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นกรณี ข่มขืนหรือกระทำอนาจารทั่วไป ที่ไม่มีการใช้อาวุธหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือได้รับอันตรายสาหัส เป็นความผิดอันยอมความได้ตามความสมัครใจและสภาพสังคม

แต่ในปี พ.ศ.2562 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งสำคัญทั้ง การเพิ่มโทษให้สูงขึ้น และบัญญัติ ให้เป็นความผิดที่ยอมความกันไม่ได้!

ปรากฏตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มาตรา 4 ในเรื่องของการข่มขืนดังนี้

มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นถึงสี่แสนบาท

ถ้าได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือ จำคุกตลอดชีวิต

แต่แม้จะมีการบัญญัติเพิ่มโทษให้สูงขึ้นมาก รวมทั้งเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้เช่นแต่ก่อน

แต่ ชายทรชน ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยกลัวเกรงโทษอาญาที่สูงขึ้นนั้นกันแต่อย่างใด!

เพราะล้วนรู้ดีว่า คดีความผิดทางเพศและทุกคดีในประเทศไทย ผู้เสียหายจะไม่สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจแห่งใดได้ง่ายๆ

ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาสารพัดของพนักงานสอบสวน การไม่อยากทำสำนวน “ไม่บันทึกเข้าสารบบเลขคดี” เพราะจะมีปัญหาถูกผู้บังคับบัญชาด่าว่า ทำให้คดีเกิดมาก ทำงานไม่เป็น!

รวมทั้งหญิงแทบทุกคนล้วน “หวาดหวั่นต่อความอับอาย” ในการที่จะเดินขึ้นไปพบพนักงานสอบสวนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหรือแม้กระทั่งหญิงที่สถานีตำรวจ

เล่าเรื่องราวของการถูกลวนลามกระทำอนาจารหรือข่มขืนให้ฟัง โดยมี “ตำรวจชายหัวเกรียน” คอยเดินสอดส่อง หรือนั่งมองอยู่มากมาย!

ซ้ำการกระทำผิดทางเพศที่หญิง “บากหน้า” ไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจส่วนใหญ่ ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร

เช่นในคดีกรณีเดียวกันที่เกิดขึ้นเขต สน.ลุมพินี เมื่อปี 2563 ที่มีหญิงคนหนึ่งไปร้องทุกข์ว่าถูกข่มขืน

จนกระทั่งบัดนี้ เธอก็มีแต่ “ความขมขื่น”

นอกจากได้รับความเสียหาย “เกิดความอับอาย” แล้ว คดีก็ไม่มีความคืบหน้าในการแจ้งข้อหากับผู้กระทำผิดแต่อย่างใด!.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts