เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ของประเทศไทย โดยเฉพาะ 6 จังหวัดภาคใต้ ที่มีพื้นที่อยู่ในเขตชายฝั่งอันดามัน ได้แก่ กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง ภูเก็ต และสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก บ้านเรือนประชาชน รีสอร์ต โรงแรม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เสียหายหลายพันล้านบาท
แม้เวลาจะล่วงเลยมา 20 ปี แต่ความน่าสะพรึงกลัว ยังฝังอยู่ในความทรงจำของคนไทย และตระหนักถึงการเตรียมพร้อม รับมือด้วยความไม่ประมาท
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ระบุว่า ภัยสึนามิที่เกิดขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง ที่ผ่านมาได้ศึกษาวิจัย และปรับปรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์วัดระดับน้ำทะเลและคลื่นสึนามิ การจำลองการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ รวมถึงนำมาตรการที่ได้ผลของต่างประเทศมาปรับใช้ ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของไทย
ทั้งนี้มีแนวโน้มว่า อาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และสึนามิขึ้นอีก ในช่วงชีวิตของเรา เนื่องจากรอยต่อแผ่นดินไหวอาระกัน ที่ยังไม่คลายพลังงาน และอาจเกิดเหตุรุนแรงในหมู่เกาะอันดามันอีกครั้ง จึงไม่ควรประมาท และต้องเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการปรับปรุงระบบเตือนภัยให้เร็วขึ้น สามารถรับรู้ได้ภายใน 20-30 นาที มีที่หลบภัยแนวดิ่ง เป็นอาคารสูงที่แข็งแรง จัดทำป้ายนำทางแก่ประชาชน นักท่องเที่ยวให้เพียงพอ และอพยพผู้คนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น