วันเสาร์, ธันวาคม 28, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

Related Posts

กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง – ผลการตรวจสอบโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย แนะ ศอ.บต. แก้ไข – แนะ ครม. กำหนดหลักเกณฑ์เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างทั่วถึงโดยไม่เลือกปฏิบัติ หลังพบว่าพนักงานบริการไม่ได้รับเงินเยียวยาในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 43/2567 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ระบุว่า เดิมผู้ร้องอาศัยอยู่ที่บ้านหางฮุง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ผู้ถูกร้องที่ 1) มีโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่จาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไปยังบริเวณใกล้บ้านหางฮุง ประชาชน จึงเรียกร้องให้มีการอพยพ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้อพยพประชาชนบ้านหางฮุงที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานดังกล่าวออกจากพื้นที่เดิม ไปอยู่ที่บ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยได้รับจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 2 งาน แต่ กฟผ. และสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กฟผ. ในขณะนั้น ไม่ดำเนินการให้ตนและประชาชนที่อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านเวียงหงส์ล้านนาได้รับเอกสารสิทธิในที่ดิน ทำให้เสียโอกาสในการถือครองที่ดิน ไม่สามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจ หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นได้เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงขอให้ตรวจสอบ

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า โครงการขยายเหมืองแม่เมาะฯ ของ กฟผ. เป็นผลให้มีการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หลายครั้ง โดยครั้งที่ 1 – 4 เกิดขึ้นระหว่างปี 2521 – 2536 ซึ่ง กฟผ. ได้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการไปอาศัยในพื้นที่จัดสรร ณ บ้านท่าปะตุ่น – นาแขม ตำบลแม่เมาะ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง ต่อมาปี 2536 ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้เรียกร้องเอกสารสิทธิในที่ดิน เนื่องจากส่วนใหญ่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเดิมก่อนการอพยพ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ให้ออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่อยู่อาศัย และออก ส.ป.ก. 4-01 ในส่วนที่ดินทำกิน ในพื้นที่อพยพให้แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว

ต่อมา มีการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะฯ ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นกรณีตามคำร้องนี้ เกิดขึ้นระหว่างปี 2545 – 2552 โดยประชาชนบ้านหางฮุง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เมาะ 341 ครัวเรือน ได้รับจัดสรรที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะ บ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 โดยให้เป็นที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 200 ตารางวา แต่ไม่ได้รับเอกสารสิทธิในที่ดิน และถูกห้ามไม่ให้เข้าไปปลูกสร้างบ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างถาวรในที่ดินเดิมที่บ้านหางฮุง ตามประกาศคณะทำงานจ่ายเงินช่วยเหลือค่ารื้อถอนเพื่ออพยพราษฎรบ้านหางฮุง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เมาะ ลงวันที่ 17 มีนาคม 2552 ทั้งนี้ ประชาชนที่อพยพไปยังบ้านเวียงหงส์ล้านนาส่วนใหญ่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเดิมก่อนการอพยพ

โดยปรากฏว่าการที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงอพยพ บ้านเวียงหงส์ล้านนา เนื่องจาก กฟผ. และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องทั้งสองอ้างว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ที่เห็นชอบให้อพยพประชาชนบ้านหางฮุงครั้งที่ 5 ตามคำร้องนี้ มิได้มีมติให้ออกเอกสารสิทธิให้กับผู้ถูกอพยพ จึงไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการออกเอกสารสิทธิได้ และการอพยพเป็นไปตามความสมัครใจ อีกทั้งในเวลานั้น กฟผ. ไม่ต้องการใช้พื้นที่ในการขยายโครงการแล้ว แต่ประชาชนยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินบ้านหางฮุงและต้นไม้ที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่า การอพยพครั้งที่ 5 เกิดจากการที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการที่ กฟผ. อพยพประชาชนบ้านหางฮุงประมาณครึ่งหนึ่งออกจากพื้นที่ไปก่อนหน้านั้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านการตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันของชุมชนซึ่งต้องห่างไกลกันจากญาติพี่น้อง มีการเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีวัฒนธรรมและการพัฒนาหมู่บ้าน รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองมิได้ดำเนินการให้มีการออกเอกสารสิทธิให้แก่ประชาชนในพื้นที่บ้านเวียงหงส์ล้านนาเช่นเดียวกับการอพยพครั้งอื่น จึงสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิบัติของภาครัฐเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ร้องและประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนาให้แตกต่างไปจากผู้อพยพครั้งอื่น ซึ่งเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กฟผ. (ผู้ถูกร้องที่ 1) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ประกอบกับจังหวัดลำปางได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่รองรับการอพยพบ้านเวียงหงส์ล้านนา โดยเห็นควรให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะบางส่วน เพื่อนำมาออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนา และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 จังหวัดลำปางได้มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ไปยังสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปางเพื่อประมวลเรื่องเสนอกระทรวงพลังงาน และนำเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กรณีเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะบางส่วน ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการอพยพ เพื่อนำมาออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบโดยเร็ว

ให้ ครม. พิจารณาเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะบางส่วน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกเอกสารสิทธิเฉพาะในส่วนที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

และให้ กฟผ. นำข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้ ไปประกอบการพิจารณาหากต้องเวนคืนที่ดินสำหรับใช้ในกิจการพลังงาน และอพยพประชาชนออกจากที่ดิน โดยจะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ของการดำรงอยู่ร่วมกันของประชาชนในชุมชน ด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts