วันเสาร์, ธันวาคม 28, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. เผยผลการตรวจสอบโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย แนะ ศอ.บต. แก้ไข

Related Posts

กสม. เผยผลการตรวจสอบโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย แนะ ศอ.บต. แก้ไข

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติให้หยิบยกเรื่อง การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณที่ตั้งโครงการ ขึ้นตรวจสอบเนื่องจากอาจขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และการดำเนินโครงการอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ประกอบกับผู้ร้องคือเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ร้องเรียนว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้ดำเนินการตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการ เห็นว่า โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาฯ เป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง มุ่งเน้นการลงทุนของภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยมีแผนงานประกอบด้วย ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทางเลือก และนิคมอุตสาหกรรม หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของโครงการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 แม้ผู้ถูกร้อง คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะผู้เสนอโครงการจะได้จัดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เช่น การใช้ที่ดินจำนวนมากเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ระบบขนส่งและคมนาคม การใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ รัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาโครงการ โดยดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างอิสระ แข็งขัน และมิใช่เพียงดำเนินการในเชิงกระบวนการเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการมีส่วนร่วมในเชิงเนื้อหาโดยมีส่วนร่วมตัดสินใจกับรัฐในการจัดการทรัพยากรและการกำหนดทิศทางการพัฒนาในท้องถิ่นของตน

ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบสรุปได้ว่า ขณะที่ ศอ.บต. ขับเคลื่อนโครงการและจัดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ เนื่องจากพบว่า มีกระบวนการรวบรวมที่ดินเพื่อขายให้บริษัทเอกชนรายใหญ่และเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้กับเอกชนเพื่อดำเนินโครงการ รวมทั้งมีการเตรียมการแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่จากที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมเป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า จึงนำไปสู่การคัดค้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปรากฏว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 มีการล้อมรั้วลวดหนามสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตั้งด่านสกัดไม่ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเข้าร่วมเวที ประกอบกับในการอนุมัติโครงการเกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. การที่ ศอ.บต. ในฐานะผู้ถูกร้องเป็นหน่วยงานที่มีภาพลักษณ์การทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นผู้ดำเนินการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการเอง จึงอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับหลักการและสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐต้องให้หลักประกันสิทธิดังกล่าวว่าผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นอย่างเท่าเทียม ครอบคลุม มีอิสระและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และปราศจากการบังคับหรือกีดกัน

ประเด็นที่สอง การวางและจัดทำผังเมืองรวมจะนะ เห็นว่า การที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ให้แก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอำเภอจะนะ จากพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า อาจนำมาซึ่งการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีเขียว แม้ในการพิจารณาของ ครม. ในครั้งนั้นจะมีการอ้างอิงถึงผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะฯ แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ดังนั้น การวางและจัดทำผังเมืองรวมจะนะโดยแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม เป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 จึงสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน

และประเด็นที่สาม กรณีร้องเรียนว่ามีกระบวนการรวบรวมที่ดินเพื่อขายให้แก่บริษัทเอกชนรายใหญ่เพื่อใช้ดำเนินโครงการ นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงแล้ว จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้ และติดตามผลการดำเนินการของ ป.ป.ช. ต่อไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (3) อย่างไรก็ตาม กสม. ได้ทราบว่าหลังจากที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ ครม. ให้ยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ครม. ได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และให้รับข้อเสนอของภาคประชาชนไปพิจารณา เป็นผลให้กระบวนการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ ชะลอออกไป โดยปัจจุบันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) กรณีนี้จึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) ให้ ศอ.บต. ดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาหรือขับเคลื่อนโครงการที่มีลักษณะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันหรือองค์กรที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะและเป็นที่ยอมรับไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงร่วมตัดสินใจ

(2) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา วางและจัดทำผังเมืองรวมจะนะให้สอดคล้องกับผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบริบทพื้นที่และการคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

(3) ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเครื่องมือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) มาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายหรือการพัฒนาโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นวงกว้าง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของสังคมในแต่ละพื้นที่ ลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts