(26 เม.ย.65) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการพิจารณาเพิ่มถังขยะบริเวณทางเท้า ชุมชน ป้ายรถโดยสารประจำทาง รวมถึงสถานที่สาธารณะอื่นๆ อย่างเหมาะสม เพื่ออำนวยความความสะดวกให้กับประชาชนและช่วยลดปัญหาการทิ้งขยะในที่สาธารณะ โดยจัดหาถังรองรับมูลฝอยประเภทต่าง ๆ หลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและสถานที่ตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถังพลาสติกชนิดล้อเลื่อนแบบมีฝาปิด ขนาด 80 ลิตร 130 ลิตร และ 240 ลิตร นอกจากนี้ได้ประสานสำนักงานเขตสำรวจความต้องการถังรองรับมูลฝอยประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดหาถังรองรับมูลฝอยเป็นประจำทุกปี สำหรับการจัดการถังรองรับมูลฝอยในช่วงที่ผ่านมา ปีงบประมาณ 2561 ได้จัดซื้อถังรองรับมูลฝอย ขนาด 240 ลิตร จำนวน 20,000 ใบ และในปี 2562 ดำเนินการจัดซื้อถังรองรับมูลฝอย ขนาด 80 ลิตร จำนวน 4,000 ใบ ขนาด 130 ลิตร จำนวน 18,000 ใบ โดยจัดสรรให้สำนักงานเขตต่าง ๆ เพื่อนำไปให้บริการประชาชนในชุมชน หรือตั้งถังรองรับขยะแยกประเภทสำหรับผู้สัญจรในถนนสายหลักและถนนสายรอง ซึ่งการตั้งถังขยะโดยทั่วไปจะตั้งไว้ในชุมชน ตรอก ซอย แต่ส่วนในพื้นที่บริเวณทางเท้าถนนสายหลักและถนนสายรองจะไม่ตั้งถังรองรับขยะ เนื่องจากจะมีปัญหาขยะล้นถังและขยะจำนวนมากจากการทิ้งขยะตลอดเวลา ซึ่งสร้างความสกปรกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศและแจ้งประชาชนและผู้ค้าริมถนนทราบเวลานัดทิ้ง เวลาเก็บ ซึ่งโดยทั่วไปนัดทิ้งเวลา 18.00-03.00 น. และเก็บให้เสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ทุกวัน งดเก็บขยะเวลากลางวัน เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาจราจร หรือหากประชาชนหรือผู้ค้าจะมีถังขยะตั้งวางในพื้นที่ของตนเองสำหรับทิ้งขยะของตนเอง หรือบริการลูกค้า ต้องใส่ถุงมัดปากให้แน่นรอทิ้งในช่วงเวลากำหนด
สำหรับถังขยะที่พบเห็นบ้างบนทางเท้าเป็นถังขยะสำหรับผู้สัญจร ส่วนใหญ่ตั้งเท่าที่จำเป็นบริเวณป้ายรถประจำทางหรือสถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการตั้งบนทางเท้าในย่านชุมชน เนื่องจากได้มีการนัดเวลาจัดเก็บขยะแล้ว อีกทั้งทุกอาคารได้จัดให้มีที่ทิ้งขยะสำหรับผู้ใช้บริการไว้แล้ว จากการประสานสำนักงานเขตในพื้นที่ได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีบ้านเรือนริมถนน รวมถึงบริษัท ห้างร้าน ริมทางเท้าพบว่าไม่ประสงค์ให้ตั้งวางถังขยะหรือจุดพักขยะบนทางเท้าหน้าบ้านของตน เนื่องจากก่อให้เกิดความสกปรก โดยยินดีทิ้งขยะตามเวลาที่เขตกำหนด ซึ่งชุมชนหรืออาคารสถานที่ที่มีขยะมากกว่า 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รถจะเข้าไปจัดเก็บขยะ ณ ที่พักขยะของสถานที่นั้น ๆ เป็นประจำทุก 1-3 วัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจร อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตได้มีแนวทางการตั้งถังขยะบนทางเท้าในจุดที่เหมาะสมและไม่ก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนที่มีบ้านเรือนริมถนนและไม่สร้างมลภาวะทางสายตาและสร้างความสกปรกแก่บ้านเมือง โดยเฉพาะเวลากลางวันจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งประชาชนสามารถทิ้งขยะในสถานที่ที่ตนเข้าใช้บริการได้ทุกแห่ง
ทั้งนี้บริเวณย่านการค้าตลาดสำเพ็ง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กำหนดแนวทางสำหรับการจัดเก็บขยะมูลฝอย ดังนี้ สำหรับสถานประกอบการและบ้านพักอาศัย ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ หรือผู้พักอาศัยย่านตลาดสำเพ็ง ให้นำขยะมาทิ้งในจุดที่กำหนด เป็นช่วงเวลา 2 รอบ คือ เวลา 18.00 – 20.00 น. และเวลา 23.00 – 01.00 น. ของทุกวัน เพื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการจัดเก็บ สำหรับประชาชนผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยทั่วไป ได้กำหนดจุดตั้งถังรองรับมูลฝอยในย่านตลาดสำเพ็งและราชวงศ์ จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.ท่าเรือราชวงศ์ (2 ถัง) 2.ทางเข้าศาลเจ้าโรงเจบุญสมาคม (2 ถัง) และ 3.บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกราชวงศ์ (2 ถัง) พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และรถบรรทุกขยะมูลฝอยแบบอัดท้ายเข้าดำเนินการทำความสะอาดและจัดเก็บขยะมูลฝอย ตามรอบเวลา คือ รอบที่ 1 ช่วงเวลา 05.00 -10.00 น. รอบที่ 2 ช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น. และรอบที่ 3 ช่วงเวลา 21.00 – 05.00 น. พร้อมทั้งพิจารณาเพิ่มจุดตั้งวางถังรองรับมูลฝอยในย่านตลาดสำเพ็ง ตลอดจนการเพิ่มรอบของเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการทำความสะอาดและจัดเก็บขยะมูลฝอย โดยจะพิจารณาจากความเหมาะสมและความสอดคล้องของสภาพพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และลดปัญหาการทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะต่อไป
ในส่วนของถนนอโศกมนตรี พื้นที่เขตวัฒนา ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการคัดแยกมูลฝอยก่อน พร้อมมัดปากถุงให้เรียบร้อย แล้วนำมาทิ้งตามเวลานัดหมาย โดยสามารถทิ้งมูลฝอยได้ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ถึงเวลา 03.00 น. นำขยะมูลฝอยทิ้งบริเวณชายคาหรือริมรั้วบ้านเรือนของตนเอง ไม่นำมาทิ้งบริเวณที่สาธารณะต่างๆ ตลอดจนล้างทำความสะอาดบริเวณจุดพักขยะ เพื่อความสะอาดและเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงพิจารณาเพิ่มถังขยะบริเวณทางเท้า ชุมชน ป้ายรถโดยสารประจำทาง การจัดตั้งห่วงรองรับมูลฝอยแบบชนิดถุงใส บริเวณทางขึ้น-ลง สถานีรถไฟฟ้า BTS ในกรณีทางเท้า ชุมชน และจุดรอรถโดยสารสาธารณะ จะพิจารณาจากปริมาณมูลฝอยที่เกิดขึ้นในถนนหลัก ที่มีนโยบายจัดเก็บตามรอบเวลา นัดทิ้งนัดเก็บ และมีรถเร่งด่วนคอยเสริมจัดเก็บ
ด้านพื้นที่เขตบางรัก ได้ดำเนินโครงการทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา โดยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือทุกอาคาร บ้านเรือน แยกสิ่งของเหลือใช้ เป็น 4 ประเภท คือ ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย แล้วจึงนำขยะใส่ถุง มัดปากถุงให้เรียบร้อย นำออกมาวางตามจุดที่กำหนด โดยจุดวางขยะตามถนนสายหลัก สายรอง รถจัดเก็บจะเข้าจัดเก็บเป็นประจำทุกวัน ช่วงเวลา 18.00 – 03.00 น. รวมถึงจัดชุดเร่งด่วนออกจัดเก็บขยะในพื้นที่ โดยเฉพาะถนนสีลม ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของประเทศไทย ได้กำหนดให้มีการเพิ่มรอบการจัดเก็บอีกจำนวน 2 รอบ คือรอบเวลา 08.00 น. และรอบเวลา 13.00 น. ตลอดจนพิจารณาเพิ่มถังขยะบริเวณทางเท้า ป้ายรถโดยสารประจำทาง ในส่วนของถนนสีลม นับเป็นถนนเส้นหลัก โดยการกำหนดจุดทิ้งจุดเก็บขยะ ทดแทนการตั้งวางถังขยะ เพื่อภูมิทัศน์ที่สะอาดตา การตั้งวางถังขยะแบบห่วงไว้บริเวณจุดขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า ทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT