แม่น้ำโขง เป็นความอ่อนไหวที่สามารถทำลายความสัมพันธ์ของ 6 ประเทศลุ่มน้ำแห่งนี้ ให้เกิดความไขว้เขว ไม่ไว้วางใจกัน ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถูกบอนไซจากอิทธิพลภายนอก มาโดยตลอด แต่ทำไม?ลุ่มน้ำแห่งนี้ ยังข้นคลั่ก ด้วยสายสัมพันธ์อันแนบแน่น
การหยิบยกประเด็นต่างๆ ของแม่น้ำโขง มากล่าวในแง่ลบ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างความบาดหมางของมหาอำนาจนอกภาคี ยิ่งในโลกยุคโซเชียล การนำเสนอเปิดกว้าง ข้อมูลขาดการตรวจทาน โอกาสที่จะรับสาร เปลี่ยนถูกให้เป็นผิด เป็นเรื่องทำได้ง่าย และเกิดขึ้นแทบทุกวินาที
เปรียบเสมือนบ้านเรือน “ต้นน้ำ” กับ “ท้ายน้ำ” ย่อมถูกทำให้กระทบกระทั่งกัน ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งคนที่สร้างความบาดหมาง ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เป็นคนนอก ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง
ฉันใดก็ฉันนั้น “แม่น้ำโขง” ก็ไม่ต่างกัน ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ของชาติที่ไม่เกี่ยวข้อง กล่าวหาว่ามีการปล่อยน้ำบ้าง สร้างเขื่อนกักน้ำบ้าง หรือแม้กระทั่งยุยงต่อต้านการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ทุกอาณาบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ล้วนเป็นสิทธิในการบริหารจัดการของประเทศนั้นๆ ไม่มีใครก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงได้
และในความเป็นจริง การบริหารจัดการแม่น้ำโขง ก็ไม่ได้เปิดสิทธิให้ทุกประเทศ ทำได้ตามอำเภอใจ แม้กระทั่ง “จีน” ที่เป็นมหาอำนาจของโลกตะวันออก เพราะมีกฎ กติกา มีเวทีความร่วมมือ ซึ่งจะต้องมาพูดคุยกันในเรื่องส่วนรวม
ยกตัวอย่างเช่น กรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง และ แม่น้ำโขง หรือ (Lancang-Mekong Cooperation) ซึ่งสมาชิกทั้ง 6 ประเทศคือ ไทย ลาว จีน เวียดนาม เมียนมา และ กัมพูชา ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในด้านความมั่นคงของแม่น้ำโขง ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างเศรษฐกิจผ่านแม่น้ำสายนี้
บรรยากาศการประชุมทุกครั้ง เต็มไปด้วยถ้อยที ถ้อยอาศัย เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ปราศจากการข่มขู่ คุกคาม จีนในฐานะพี่ใหญ่ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของ 5 ประเทศ แบบฉันทามติ เท่าเทียมกัน ลบล้างคำกล่าวหาที่เคยปักปรำว่าจีน พยายามเข้าครอบงำลุ่มน้ำโขง จากประเทศนอกภูมิภาค ซึ่งไม่ควรเข้ามากวนน้ำให้ขุ่น
ความร่วมมือ LMC เป็นเวทีความร่วมมือระดับอนุภูมิภาครูปแบบใหม่ ที่จีนกับ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงร่วมก่อตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือฉันมิตรระหว่าง 6 ประเทศ ผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมระดับภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างกัน ส่งเสริมการสร้างสรรค์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของอาเซียน และภายในภูมิภาค โดยทั้ง 6 ประเทศ ต่างร่วมแรงร่วมใจ สร้างสรรค์ประชาคมประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีชะตาชีวิตร่วมกัน ด้วยความยาวเกือบ 5,000 กิโลเมตร ให้กลายเป็นแม่น้ำนานาชาติ สายสำคัญในคาบสมุทรอินโดจีน
แม้การบริหารจัดการน้ำของแต่ละประเทศ จะเป็นสิทธิภายใน ที่ประเทศอื่นไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ แต่หากการบริหารจัดการ ส่งผลกระทบต่อองค์รวมของสมาชิกลุ่มน้ำโขง ประเทศภาคีมีสิทธิหยิบมาถกกันในเวทีความร่วมมือ เพื่อหาทางปรับจูนให้สอดคล้องกัน ตาม “แผนพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชนลุ่มน้ำโขง” ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาช้านาน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ที่สำคัญคือคือ “จีน” ซึ่งเป็น “พี่ใหญ่” มีชาวจีนจำนวนมาก เข้าไปทำมาค้าขายใน 5 ประเทศ หากจีนไม่บริหารจัดการ “ต้นน้ำ” ให้เหมาะสม ส่งผลกระทบกับ 5 ประเทศ คนจีนที่ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงยังกระทบต่อโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่เปรียบเสมือน เส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจีนไม่มีทางยอมแลกอยู่แล้ว
นั่นคือข้อพิสูจน์ว่า สายสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง อาจมีการบาดหมางกันบ้าง แต่ไม่เคยแตกแยกกันเลย