กสม. ชี้ กรณีสายการบินปฏิเสธออกบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารข้ามเพศ เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหาทางป้องกันและแก้ไข – ตรวจสอบกรณีสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 วางท่อส่งน้ำรุกล้ำที่ดินชาวบ้านในพื้นที่ อ. เกาะคา จ. ลำปาง แนะหน่วยงานระมัดระวังการดำเนินการและเยียวยาอย่างเป็นธรรม
วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายจุมพล ขุนอ่อน ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 6/2568 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1.กสม. ชี้ กรณีสายการบินแห่งหนึ่งปฏิเสธออกบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารข้ามเพศ เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหาทางป้องกันและแก้ไข
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศ เมื่อเดือนกันยายน 2567 ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ชายข้ามเพศรายหนึ่งได้ติดต่อเช็กอินที่เคาน์เตอร์ของสายการบินต่างชาติแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้อง) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เจ้าหน้าที่ของสายการบินแจ้งว่า คำนำหน้าชื่อ “นางสาว” ในหนังสือเดินทางของผู้เสียหายไม่ตรงกับรูปลักษณ์ทางเพศ จึงปฏิเสธการออกบัตรโดยสารผ่านขึ้นเครื่อง หรือ boarding pass ให้ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงของสายการบิน และแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเมือง อย่างไรก็ดี แม้ในภายหลังผู้เสียหายจะได้รับค่าตั๋วโดยสารบางส่วนคืนจากตัวแทนจำหน่าย และในวันต่อมาผู้เสียหายได้ซื้อตั๋วโดยสารจากสายการบินอื่นและสามารถเดินทางเข้าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ แต่สัมภาระซึ่งมีของสดได้รับความเสียหาย และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของสายการบินผู้ถูกร้องทำให้ตนเองรู้สึกแปลกแยกหรือถูกด้อยค่า ไม่ได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติรับรองและคุ้มครองให้บุคคลทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทาง การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการจำกัดเสรีภาพภายใต้ขอบเขตของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และบุคคลมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุใด รวมถึงเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศจะกระทำมิได้ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิเสธรับขนส่งผู้โดยสารให้สามารถกระทำได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัย หรือการรักษาความปลอดภัย หรือเป็นกรณีตามที่กำหนดในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนเท่านั้น นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติได้มีหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) กำหนดให้องค์กรธุรกิจควรเคารพหลักสิทธิมนุษยชนโดยหลีกเลี่ยงการกระทำหรือการมีส่วนที่จะทำให้เกิดผลกระทบ รวมถึงหาทางป้องกันหรือลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจด้วย
กสม. เห็นว่า แม้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดให้การปฏิเสธขนส่งผู้โดยสารจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก โดยให้สายการบินทำการตรวจสอบบุคคลเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างรูปลักษณ์ภายนอกกับรูปภาพในหนังสือเดินทางหรือเอกสารราชการที่นำมาแสดง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารูปลักษณ์ภายนอกของผู้เสียหายสอดคล้องตรงกับรูปภาพในหนังสือเดินทาง ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายเป็นผู้โดยสารของสายการบิน สายการบินจึงมีหน้าที่และไม่สามารถปฏิเสธการออก boarding pass ให้ผู้เสียหายจากเหตุผลเพื่อการรักษาความปลอดภัยได้ รวมถึงจากการตรวจสอบยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นที่จะเป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องมีสิทธิปฏิเสธการรับขนส่งผู้โดยสารตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แต่อย่างใด
การที่เจ้าหน้าที่สายการบิน แจ้งว่า หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เคยปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารของสายการบินซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศเข้าเมือง เมื่อผู้เสียหายมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับเพศในหนังสือเดินทางทั้งด้านรูปลักษณ์หรือกริยาที่แสดงออก เจ้าหน้าที่ของสายการบินสาขากรุงเทพจึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และได้รับคำตอบว่าไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเมือง อย่างไรก็ดี เห็นว่า เป็นการประสานงานด้วยวาจาเท่านั้น และยังไม่ปรากฏการปฏิเสธการเข้าเมืองเป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไม่เป็นไปตามคำแนะนำของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่เคยย้ำเตือนแล้วว่า หากสายการบินจะปฏิเสธการขนส่งผู้โดยสารเนื่องจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทางไม่อนุญาตให้เข้าเมืองต้องมีหลักฐานการปฏิเสธที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองมาแสดง ประกอบกับมีการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางที่แสดงว่าผู้เสียหายเคยผ่านเข้าและออกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หลายครั้งแล้ว จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอให้สายการบิน ผู้ถูกร้องสามารถปฏิเสธการออก boarding pass ให้ผู้เสียหาย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากสำเนา boarding pass ของสายการบินอื่นในประเทศแถบตะวันออกกลางที่ออกให้ผู้เสียหายเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แสดงให้เห็นว่า การปฏิเสธการออก boarding pass ของสายการบินผู้ถูกร้องเป็นการปฏิบัติที่แตกต่างจากสายการบินอื่น แม้ผู้ถูกร้องจะไม่มีนโยบายในการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ แต่การอ้างเหตุในการปฏิเสธการออก boarding pass ดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบบุคคลก่อนอนุญาตขึ้นเครื่องบิน ทำให้มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศกำเนิดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสายการบินผู้ถูกร้อง ให้ปรับปรุงขั้นตอนในการเช็กอินและการออก boarding pass ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย กรณีการตรวจสอบยืนยันตัวบุคคลตามมาตรการรักษาความปลอดภัยต้องพิจารณาจากความสอดคล้องของรูปลักษณ์ภายนอกกับรูปภาพในหนังสือเดินทางหรือเอกสารราชการที่นำมาแสดงเป็นหลัก และจะปฏิเสธผู้โดยสารจากเหตุที่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทางแจ้งว่าจะไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้เฉพาะเมื่อมีการประสานงานและตอบกลับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้น รวมทั้งให้สายการบินผู้ถูกร้องดำเนินการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายเพิ่มเติมให้ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น ตั๋วโดยสาร ความเสียหายต่อสัมภาระ ค่าขาดประโยชน์ที่คาดหมายได้และการแสดงความขอโทษเพื่อเยียวยาจิตใจ
นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามคำร้องนี้ และนำผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก ตามหน้าที่และอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พร้อมกันนี้ ให้กำชับสายการบินผู้ถูกร้องและสายการบินอื่นเกี่ยวกับขั้นตอนการประสานงานกับหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบถามในเรื่องหลักเกณฑ์กฎหมายการเข้าเมือง การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารเข้าเมืองจะต้องมีการประสานงานและตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร



