วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 22, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมปปง. คืบหน้า! ยึดทรัพย์สินมูลค่า 411 ล้านบาทคดีฉ้อโกง-พนันออนไลน์-ยาเสพติดพร้อมส่งศาลยึดเป็นของแผ่นดินอีก 673 ล้านบาท

Related Posts

ปปง. คืบหน้า! ยึดทรัพย์สินมูลค่า 411 ล้านบาทคดีฉ้อโกง-พนันออนไลน์-ยาเสพติดพร้อมส่งศาลยึดเป็นของแผ่นดินอีก 673 ล้านบาท

“…สำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สินกว่า 1,000 รายการ 45 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 1,236 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 41 รายคดี…”

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 นายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง.และโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 2/2568 ซึ่งมีนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. เป็นกรรมการและเลขานุการ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการพนันออนไลน์ ซึ่งสรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจดังนี้

วิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง.และโฆษกประจำสำนักงาน ปปง.

1. ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 21 รายคดี ทรัพย์สินกว่า 190 รายการพร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 411 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในคดีสำคัญเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการพนันออนไลน์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้

– รายคดี บริษัท เคทูเอ็น โกลด์ กับพวก กรณีนางสาวกรกนกฯ หรือแม่ตั๊ก และนายกานต์พลฯ หรือป๋าเบียร์ โฆษณาขายทองรูปพรรณพร้อมของแถม เพื่อจูงใจให้ผู้เสียหายตัดสินใจซื้อสินค้า แต่สินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา อันเป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา    อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 38 รายการ (เช่น เงินสด ยานพาหนะ ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 163 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 32/2568)

– รายคดี นายภาณุฯ กับพวก กรณีเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิใบรับซื้อวัตถุดิบและใบเสร็จรับเงินเพิ่มค่าหัวมันสำปะหลัง อันเป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 15 รายการ (เช่น ยานพาหนะ ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร)   รวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 31/2568)

 รายคดี นายยุทธนาฯ กับพวก กรณีเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ www.fullplays39.com ซึ่งมีการชักชวนและจัดให้มีการเล่นการพนันหลายรูปแบบ มีการโอนและรับโอนเงิน ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวนมาก ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 130 รายการ (เช่น ห้องชุด ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 214 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 47/2568)

 รายคดี นายกฤษฎาฯ กับพวก กรณีเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยจากการสืบสวนพบว่ามีการชักชวนให้บุคคลทั่วไปเล่นพนันออนไลน์ และจากการตรวจสอบพบข้อมูลการโอนและรับโอนเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 55 รายการ (เช่น เงินสด เครื่องประดับ ทองคำ สินค้าแบรนด์เนม และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 48/2568)

2. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 13 รายคดี ทรัพย์สินกว่า 225 รายการ มูลค่าประมาณ 673 ล้านบาท 
โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้

 รายคดี นางสาวเจียนฯ กับพวก กรณีมิจฉาชีพได้หลอกลวงให้ผู้เสียหาย โอนเงินค่าทำสัญญาเงินกู้ ค่าค้ำประกัน และปลดล็อคข้อมูล อันเป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยในกรณีดังกล่าวมีทรัพย์สินกว่า 50 รายการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง โดยการพิจารณาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการกับทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 9 รายการ (ห้องชุด และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 78 ล้านบาท (คำสั่ง ย.241/2567)

– รายคดี นางสาวเดือนนภาฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้วกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง โดยการพิจารณาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการกับทรัพย์สินเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง   ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 4 รายการ (ที่ดิน) มูลค่าประมาณ 95 ล้านบาท (ย.250/2567)

– รายคดี นางสาวสุรีวรรณฯ กับพวก กรณีเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ความผิดเกี่ยวกับการพนัน       และความผิดฐานฟอกเงิน โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 109 รายการ (เช่น ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 330 ล้านบาท (ย.249/2567)

3. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สิน  ไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 11 รายคดี ทรัพย์สิน 679 รายการ มูลค่าประมาณ 152 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ คือ

รายคดี กลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมไฮบริดสแกมข้ามชาติ ชื่อบัญชีนางสาววาสนาฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และความผิดฐานฟอกเงิน ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สิน 1 รายการ มูลค่า 80 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 92/2567)

รายคดี นายเอกณัฏฐ์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งการดำเนินการกับทรัพย์สินในกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย 1 ราย ซึ่งเป็นการดำเนินการ  กับทรัพย์สิน จำนวน 93 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 42 ล้านบาท (คำสั่ง ย.160/2567) 

อนึ่ง เลขาธิการ ปปง. ได้เน้นย้ำว่า การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. ในทุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากพบการทุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. ก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่ละเว้น เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการทำงานของสำนักงาน ปปง. ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริต ของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. สามารถแจ้งข้อร้องเรียนได้โดยตรงที่สายด่วน ปปง. 1710 และเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th รวมทั้งช่องทางออนไลน์อื่น ๆ โดยข้อมูลการร้องเรียนดังกล่าวสำนักงาน ปปง. จะเก็บรักษาไว้เป็นความลับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts