วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกการเมืองสัมปทานท่อส่งน้ำ EEC

Related Posts

สัมปทานท่อส่งน้ำ EEC

ในทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม สั่งการให้กระทรวงการคลัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซีมูลค่ากว่า 25,000 ล้าน โดยให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกขั้นตอนโดยเร็ว

หลังจากที่ฝ่ายค้านประกาศจะหยิบยกกรณีดังกล่าว ขึ้นอภิปรายซักฟอกไม่ไว้วางใจรัฐบาล รวมทั้งองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญประกาศยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบกราวรูดผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการนี้ จนยังผลให้กรมธนารักษ์ต้องเลื่อนการเซ็นสัญญาโครงการดังกล่าวกับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะประมูลโครงการนี้ออกไป เพื่อรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น

ทุกฝ่ายต่างหันมาให้ความสนใจโครงการประมูลท่องส่งน้ำอีอีซีนี้กันอย่างไม่กระพริบ.. เกิดอะไรขึ้นกับการดำเนินโครงการนี้ เหตุใดบริษัท อีสท์วอเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกร่วมทุนของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่เคยได้รับสัมปทานบริหารจัดการโครงการนี้จึง “ถูกลอยแพ” ไปได้  และเหตุใดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จึงมีความพยายามที่จะเดินหน้าเซ็นสัญญาโครงการนี้ แม้จะมีกระแสวิพากษ์ทักท้วงจากหลายฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา

นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์

วันวานก่อน (3 พ.ค.) นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมคัดเลือกฯ ได้เปิดแถลงถึงที่มาที่ไปการดำเนินโครงการนี้อย่างละเอียด พร้อมเปิดเผยสาเหตุที่ต้องเลื่อนเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการออกไปตามใบสั่งนายกฯ เพราะสังคมและสื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมาก และยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับทุกฝ่าย

แต่คำชี้แจงของอธิบดีกรมธนารักษ์ จะทำให้เส้นทางการดำเนินโครงการนี้ราบรื่น หรือนั่นคือ “ใบเสร็จ” การทุจริตที่เป็นหลักฐานมัดตัวผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้หรือไม่?

อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้แถลงยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า การประมูลโครงการบริหารกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในเขตอีอีซีนั้น กรมฯ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุได้ดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยเป็นการ “ประมูลตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 2562 มาตรา 29 ซึ่งกำหนดให้ การจัดประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้าน ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ไม่ได้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปี 2562 ไม่ใช่การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ปี 2560”
 
ส่วนเหตุที่ต้องล้มประมูลครั้งแรก (ตามประกาศ TOR ลงวันที่ 16 ก.ค.64) เพราะเงื่อนไขประกวดราคา หรือ TOR ขาดความชัดเจน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเปรียบเทียบข้อเสนอได้อย่างครบถ้วน เห็นได้จากบริษัท อีสท์วอเตอร์ฯ ผู้รับสัมปทานเดิมได้เสนอความสามารถในการส่งน้ำเข้ามาสูงถึง 350 ล้านลบ.เมตร/ปี เกินกว่าศักยภาพของท่อส่งน้ำที่มี และเกินกว่ารายงานผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาเอาไว้ ขณะที่บริษัทวงษ์สยามฯ นั้น เสนอมาตามกรอบรายงานผลการศึกษา ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการยกเลิก TOR เดิม และแก้ไขให้สอดคล้องกับรายงานผลการศึกษา

ทั้งนี้ การยกเลิกประกวดราคาดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ และไม่ได้มีการตัดสิทธิ์รายใด เอกชนที่เข้าประมูลยังคงเข้ายื่นประมูลแข่งขันได้ทุกราย แถมผลพวงจากการเปิดประมูลใหม่ ยังทำให้รัฐได้ผลประโยชน์มากขึ้นหลายเท่าตัว จากเดิมที่บริษัทวงษ์สยามฯ เสนอผลตอบแทนแก่รัฐเพียง 6,000 ล้าน ขณะอีสท์วอเตอร์ เสนอ 3,000 ล้านบาท แต่ในการประมูลครั้งใหม่ รัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมาถึง 25,000 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลที่จะยกเลิกการประมูลหรือล้มโครงการอีก  

ฟังคำชี้แจงของอธิบดีกรมธนารักษ์แล้วก็ให้เคลิบเคลิ้มตาม  หากทุกอย่างดำเนินการโปร่งใส ก็ไม่มีเหตุผลที่ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ จะติดเบรกโครงการนี้

บริหารจัดการน้ำ VS จัดประโยชน์เชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลัง ได้ตั้งข้อสังเกตต่อถ้อยแถลงของอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ยืนยันนั่งยันว่า การดำเนินการจัดประกวดราคาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 2562 หาใช่การประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ  และไม่ได้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) เนื่องจากเป็น “โครงการจัดประโยชน์เชิงพาณิชย์” ในที่ราชพัสดุที่มีกฎหมายกำกับดูแลโดยเฉพาะ และมีมูลค่าโครงการต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 62   

“นิยามโครงการ” ที่กรมธนารักษ์ และ “คณะกรรมการที่ราชพัสดุ” ระบุว่า เป็นการจัดประโยชน์ (เชิงพาณิชย์) ในที่ราชพัสดุนั้นทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า การประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารจัดการน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีนั้น กลายเป็น “กิจการเชิงพาณิชย์” ไปตั้งแต่เมื่อไร?

“การบริหารจัดการน้ำ” หรือระบบส่งน้ำ ไม่ใช่ “โครงการโครงสร้างพื้นฐาน” หรือ “กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการของรัฐ” ตามนิยามมาตร7 (5) พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปี 2562 หรืออย่างไร ?

แค่ “นิยามโครงการ” ของกรมธนารักษ์และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ก็เข้ารกเข้าพงแล้ว!!!

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนไปพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) ปี 2562 ที่กำหนดไว้ว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ดังต่อไปนี้ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ …

(1) ถนน ทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางถนน

(2) รถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง

(3) ท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ

(4) ท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ

(5) การจัดการน้ำ การชลประทาน การประปา การบำบัดน้ำเสีย

(6) การพลังงาน …

กิจการตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

หากพิจารณา “นิยามโครงการร่วมลงทุน” ที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) ปี 62 ตามนัยมาตรา 7 (5) ข้างต้น ก็แทบไม่ต้องตีความใด ๆ เลยว่า เป็นการ “หักล้าง-ย้อนแย้ง” กับสิ่งที่กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุดำเนินการไปก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง!

เพราะขอบเขตการดำเนินโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในเขตอีอีซี ที่กรมธนารักษ์ดำเนินการไป โดยอ้างว่าเป็นการจตัดประโยชน์ (เชิงพาณิชย์) ในที่ราชพัสดุนั้น ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พีพีพี ปี 2562 นี้อย่างชัดเจน และโครงการที่กรมธนารักษ์ยืนยันนั่งยันว่า เป็น “การประมูลจัดประโยชน์เชิงพาณิชย์” ในที่ราชพัสดุที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 62 นั้น ล้วนเป็นการดำเนินการที่แหก พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) โดยสิ้นเชิง!

“ไม่แปลกใจเลยที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 เมื่อ บริษัท ท่ากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กำลังดำเนินการเปิดประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ในท่ากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ตและหาดใหญ่ โดยในเวลานั้นได้เกิดปัญหาว่า เป็นกิจการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ หรือไม่ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในขณะนั้น (นายประภาส คงเอียด) ได้ยืนยันว่า กรณีสัญญาสัมปทาน ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ภายในสนามบิน ซึ่ง ทอท.เปิดประมูลเพื่อดำเนินการในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เนื่องจากไม่ใช่กิจการสาธารณะ หรือไม่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นกับการบริหารกิจการการบิน จนทำให้โครงการประมูลดิวตี้ฟรีของ AOT ที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐมากกว่าปีละ 23,500 ล้านบาท หรือมีมูลค่ารวมทั้งโครงการสูงกว่า 235,000  ล้าน ในระยะ 10 ปีนั้น ถูกตีความว่าเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ ปี 2562”

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ อ้างว่าจำเป็นต้องยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 16 กค.64 โดยอ้าง TOR มีความไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อเสนอทางเทคนิคและการเงิน และเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ จำเป็นต้องปรับ TOR (ที่ตนเองเป็นผู้กำหนดและให้ความเห็นชอบมาตั้งแต่แรก)

แต่สิ่งที่คณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการปรับปรุง กลับเป็นเรื่องของการลดทอนคุณสมบัติเอกชนที่จะเข้าประมูลในหลายเรื่อง อาทิ 1. ยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอ 2. ปรับลดทุนจดทะเบียนของผู้ยื่นข้อเสนอจาก 500 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท 3. การปรับลดหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อจาก 800 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท และ 4. เปลี่ยนข้อกำหนดทางเทคนิคของผู้ยื่นเสนอจากที่ต้องเป็นนิติบุคคลผู้มีอาชีพและประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำ เป็นต้องเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ซึ่งไม่ใช่การปรับปรุง TOR ทางเทคนิคและการเงินและข้อเสนอเพิ่มเติมที่ควรจะมีความชัดเจนมาตั้งแต่แรก  

“หากเปรียบเทียบกับกรณีการแก้ไข TOR รถไฟฟ้าสายสีส้มที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการไปในลักษณะเดียวกัน แม้จะไม่ทำให้ใครเสียหายผู้เข้าประมูลยังคงมีสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันกันได้ แต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาต่อกรณีการแก้ไข TOR ในลักษณะดังกล่าวว่าเป็นไปโดยมิชอบ จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องจ่อจะต้องถูกดำเนินคดีตามมา

ขณะที่การแก้ไข TOR การประมูลระบบท่อน้ำอีอีซีดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า อย่างน้อยก็ทำให้บริษัทรับเหมาที่เข้าร่วมประมูลที่มีปัญหาในเรื่องของการระดมทุน มีช่องทางในอันที่จะระดมทุนให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้ ก่อนจะผ่องถ่ายหรือดึงบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ นักลงทุนที่มีกำลังเงินเข้ามาร่วมลงทุนในภายหลังเมื่อได้สัมปทานไปแล้วได้”

ธนารักษ์-กปภ./สกพอ….หน่วยงานเจ้าของโครงการ?

แหล่งข่าวยังเปิดเผยด้วยว่า หากโครงการประมูลจัดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำหลักในเขตอีอีซีดังกล่าว เป็น “โครงการโครงสร้างพื้นฐาน” หรือ กิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการของรัฐที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 62 แล้ว ก็ยังต้องกลับมาพิจารณาว่า หน่วยงานใดควรเป็น “หน่วยงานเจ้าของโครงการ”

แน่นอน! ย่อมไม่ใช่กรมธนารักษ์อย่างแน่นอน แต่ควรจะเป็นการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยตรง

เพราะกรมธนารักษ์หาใช่หน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องน้ำ หรือระบบชลประทานใดๆ ไม่มีแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และแทบจะกล่าวได้ว่า ขนาดโครงการประมูลหาเอกชนเข้ามาพัฒนาที่ราชพัสดุ สถานีขนส่งหมอชิต ของกรมธนารักษ์เองที่มีการประมูลไปตั้งแต่ 3 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2538) ผ่านมาจนถึงวันนี้ กรมธนารักษ์และคณะกรรมการที่ที่ราชพัสดุก็ยังไม่สามารถจะ “ผ่าทางตัน” ขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

แล้วนับประสาอะไร กับการจะไปขับเคลื่อนโครงการประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในเขตอีอีซี ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่หน่วยงานกรมธนารักษ์ไม่มีอยู่แม้แต่น้อย จึงทำให้ผลประโยชน์จากการประมูลที่ได้ในครั้งแรก และครั้งที่ 2 แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน  

ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนไปพิจารณา มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2535 ที่ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดตั้งบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (East Water) ขึ้นเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยมี กปภ. ถือหุ้น 100% ก่อนที่ East Water จะนำกิจการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลงเหลืออยู่ 40% ในปัจจุบันนั้น

มติ ครม.ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทในการพัฒนาและดำเนินโครงการระบบชลประทานและท่อส่งน้ำหลักในเขตอีอีซีนี้ ยังคงเป็นบทบาทของภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบ โดยต้องถือเป็นภารกิจของ กปภ. ที่จะดำเนินการ และหาก กปภ. ต้องการให้ East Water เป็นผู้ดำเนินโครงการต่อก็ย่อมสามารถดำเนินการได้

หรือหากจะเปิดให้สัมปทานร่วมลงทุนแก่เอกชนเข้ามารับสัมปทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานเจ้าของโครงการก็สมควรเสนอทบทวนมติ ครม. แม้จะเป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าการลงทุนไม่ถึง 5,000 ล้านบาท แต่ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 9 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562  อยู่ดี

เว้นแต่อธิบดีกรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ จะไปชี้แจงยืนยันต่อที่ประชุม “คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน” หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำหลักในเขตอีอีซีที่ว่านี้  ไม่ถือว่าเป็น “บริการหรือโครงการโครงสร้างพื้นฐาน” หรือกิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการของรัฐ แต่เป็น “กิจการในเชิงพาณิชย์” เป็นการ “จัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ” ตามปกติที่ต้องดำเนินการในเชิงพาณิชย์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 2562 ไม่ใช่กิจการที่ต้องดำพเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ อย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจกัน

“ทุกฝ่ายก็อยากรู้เช่นกันว่า นายกฯ และ ครม. จะเออออห่อหมกตามคำชี้แจงของท่านหรือไม่ กลัวแต่ว่าจะมีคำสั่งปลดกลางอากาศซิไม่ว่า เพราะตีความโครงการเข้ารกเข้าพงแบบนี้”

กับข้ออ้างของกรมธนารักษ์แลบะคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่กำลังป่าวประกาศความสำเร็จของการกำหนดเงื่อนไชสัมปทาน 30 ปี โดยยึดผลประโยชน์สูงสุดเป็นเกณฑ์ชี้ขาดนั้น กรณีดังกล่าวน่าจะไม่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)  เพราะการยึดผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด ย่อมกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้น้ำเพิ่มขึ้น  

“การดำเนินโครงการในลักษณะนี้ จำเป็นต้องขอรับนโยบายจาก สกพอ. และ ครม.ว่า รัฐสมควรจะยึดเอาผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินเป็นเกณฑ์ หรืออัตราค่าบริการที่ภาคอุตสาหกรรม/ผู้ประกอบการและประชาชนในเขตอีอีซีต้องจ่ายจ่ายต่ำสุดเป็นเกณฑ์ หรือยึดเอาประสิทธิภาพการจ่ายน้ำและให้บริการน้ำที่ครอบคลุมเป็นเกณฑ์”

กังขาบทบาทคลัง ส่งเสริม/บอนไซบทบาท รสก.

แหล่งข่าวจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผย กรณีที่กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ยังคงมีความพยายามที่จะเดินหน้าเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักในเขตอีอีซี แม้จะมีกระแสวิพากษ์และทักท้วงอย่างหนักอยู่ในเวลานี้ว่า ส่อให้เห็นข้อพิรุธในการดำเนินโครงการนี้ว่ามี “ใบสั่งการเมือง” อยู่เบื้องหลังการผลักดันและ “ทิ้งทวน” ก่อนที่รัฐบาลจะ “แพแตก” หรือไม่?

ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาความไม่ชอบมาพากลในการยกเลิกประกาศประกวดราคา (TOR) แล้วดำเนินการแก้ไขเงื่อนไขการประมูล โดยมีการลดทอนคุณสมบัติบริษัทเอกชนที่เข้าจะประมูล และเงื่อนไขอื่นๆ อย่างรวบรัด ปราศจากการเปิดรับฟังความเห็นจากบริษัทเอกชนผู้เข้าประมูล และแม้ บมจ.อีสท์วอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการประปาส่วนภูมิภาค ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% จะร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ แต่ก็กลับไม่ได้รับการสนองตอบใด ๆ จากกระทรวงการคลัง

“ไม่เข้าใจบทบาทของกระทรวงการคลังที่มีต่อการดำเนินโครงการรัฐ เพราะ East Water นั้น เป็นบริษัทลูกที่มี กปภ. 100% ก่อนจะดำเนินการแปรรูปนำกิจการเข้าระดมทุนในตลาดลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลงมาเหลือ  40% และมีตัวแทนฝ่ายบริหาร กปภ. นั่งอยู่ในบอร์ดหลายคนด้วยแท้ ๆ แต่กลับถูกกระทรวงการคลังจ้องลอยแพ หันไปอุ้มเอกชนแทน ไม่ต่างไปจากกรณีความพยายามในการขยายสัมปทานประปาปทุมธานีให้แก่บริษัทเอกชนก่อนหน้านี้ของฝ่ายการเมือง ทั้งที่ฝ่ายบริหารและบอร์ด กปภ. เคยมีมติที่จะดำเนินโครงการเอง แต่ภายหลังกลับถูกฝ่ายการเมืองบีบให้ขยายสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชนรายเดิมไปอีก 20 ปี โดยที่กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ (พีพีพี) กลับไม่มีการทักท้วง หรือดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้”

มาถึงโครงการบริหารท่อส่งน้ำหลักในเขตอีอีซีนี้ก็เช่นกัน แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2535 กำหนดให้ กปภ.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดหาและพัฒนาท่อส่งน้ำดิบในเขตอีอีซี ซึ่งหากยึดมติ ครม.ดังกล่าว กปภ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะต่อขยายสัญญาสัมปทานต่อไปได้ หรือหากจะประมูลใหม่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการขอทบทวนมติ ครม.เดิมเสียก่อน แต่วันนี้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังกลับเร่งรัดเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน โดยไม่มีการเสนอทบทวนมติ ครม.เดิมแต่อย่างใด ทำให้พนักงาน กปภ.ต่างพากันกังขา กระทรวงการคลังยังคงมีนโยบายให้การสนับสนุนกิจการรัฐวิสาหกิจอยู่หรือไม่ หรือต้องการบอนไซให้รัฐวิสาหกิจตายตกไปตามๆ กัน กันแน่ !!!

ขอบคุณที่มา : www.natethip.com

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts