โดยผลวิจัยการใช้ยาสูตร 1.7% THC ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และยาศุขไสยาศน์ ในผู้ป่วยนอนไม่หลับเรื้อรัง พบได้ผลดี ผู้ป่วยทรมานน้อยลง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
วันที่6 พฤษภาคม 2565 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 6 พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจเพื่อคนไทย หลังปลดล็อคกัญชา” โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม.และประชาชนเข้าร่วมงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า กัญชา เป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยช์ทางการแพทย์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่างจากพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ก่อนที่การปลดล็อคกัญชาจากการเป็นยาเสพติดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกเขตสุขภาพระดมความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ จัดการประชุมวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการปลูกและนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
สำหรับเขตสุขภาพที่ 6 มีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรมาอย่างยาวนาน ดูแลองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันการแพทย์ที่สนใจทั่วประเทศ และยังต่อยอดนำชิ้นส่วนของกัญชามาพัฒนาโมเดลธุรกิจ ร้านอาหาร สปา และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพืชกัญชาเป็นระยะเวลา 3 ปี สามารถพัฒนายากัญชาได้ 11 สูตร เป็นด้านแพทย์แผนไทย 8 สูตร และแพทย์แผนปัจจุบัน 3 สูตร มีการสั่งจ่ายยาสําหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับเรื้อรัง ไม่น้อยกว่า 6 หมื่นขวด โดยมีระบบฐานข้อมูลการใช้ยากัญชาที่สามารถประมวลผลได้แบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรยังพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้ยากัญชามีมาตรฐานและมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ได้แก่ 1.การศึกษายาสูตร 1.7% THC ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย พบว่าผู้ป่วยมีความปลอดภัย ช่วยลดความเจ็บปวดและอยากอาหารได้ดีขึ้น 2.การใช้ยาศุขไสยาศน์ ในผู้ป่วยนอนไม่หลับเรื้อรัง พบว่าสามารถเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยลดการใช้ยานอนหลับได้ 52% และสามารถหยุดยานอนหลับแผนปัจจุบันได้ภายใน 1 เดือนแรก 32% เป็นข้อมูลสนับสนุนว่ายากัญชาเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลและช่วยลดความทรมานของผู้ป่วยได้อย่างดี
ด้านนพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 6 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี มีการส่งเสริมให้นำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ โดยมีผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนได้รับใบอนุญาตให้ปลูกกัญชา 74 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขออนุญาต 19 ราย และแสดงเจตจำนงขอปลูกอีก 17 ราย มีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชาของภาครัฐที่ได้รับอนุญาต จำนวน 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมีการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์สำหรับให้บริการประชาชนทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน รวม 18 แห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาได้อย่างความปลอดภัย
สำหรับกิจกรรมประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤษภาคม มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การเสวนาวิชาการ ลานกิจกรรมฝึกปฏิบัติ 3 ฐาน ได้แก่ ปลูก-แปรรูปเบื้องต้น, สกัด-ผลิต, และการใช้ อาทิ การแปรรูปกัญชาและทำให้แห้ง การทำขนมทาร์ตกัญชา การปรุงอาหารตำรับครัวยิ้ม การปรุงยากัญชาเพื่อรักษาตนเอง เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้ทฤษฎี ลงมือทำจริง สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา และการทำเมนูเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ มีบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ตรวจรักษาโรคต่าง ๆ และรับยาตำรับกัญชาที่เหมาะสมกับโรค เช่น น้ำมันกัญชา (อาจารย์เดชา) เป็นต้น