ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะเรื่องสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคงทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัว ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เสนอไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวระบุให้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในทุกขั้นตอนการควบคุมตัวบุคคลเพื่อซักถาม ให้มีการขอความเห็นที่สองทางการแพทย์ (Second Opinion in Medicine) ในขั้นตอนการตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวจากแพทย์ที่ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง เปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเป็นอิสระ และในการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ควรให้มีหน่วยงานภายนอกอื่นหรือญาติมีส่วนร่วมในการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วย นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา รองเลขาธิการ กสม. (นายชนินทร์ เกตุปราชญ์) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ได้ประชุมหารือร่วมกับ พล.ร.ต.ดร. วรพล สิทธิจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ณ ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามผลดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้นที่ยังอาจดำเนินการไม่ครบถ้วน โดยสำนักงาน กสม. ได้รับแจ้งผลการดำเนินงานโดยสรุปว่า ในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวมีอาการป่วยหรือไม่สบายในระหว่างการถูกควบคุมตัวสามารถขออนุญาตออกไปรับการรักษากับโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนก็ได้โดยการร้องขอด้วยตนเอง ญาติ หรือศาลมีคำสั่ง เช่นเดียวกับการขอความเห็นที่สองทางการแพทย์ ผู้ถูกควบคุมตัวก็สามารถร้องขอเองได้หรือให้ญาติยื่นคำร้อง ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกส่งตัวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ดีพบปัญหาว่า แพทย์ผู้ทำการตรวจไม่อนุญาตให้บันทึกภาพการตรวจร่างกาย และมีเพียงผลการตรวจของแพทย์เท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผลการตรวจร่างกายเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี
ในส่วนการสืบสวนเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของการบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัว กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าได้มีการตั้งคณะบุคคลขึ้นมาตรวจสอบหลายชุด ซึ่งบางชุดประกอบไปด้วยบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคงเป็นองค์ประกอบเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ สำนักงาน กสม. ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการกำหนดแนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ถูกควบคุมตัว การแสวงหาแนวทางการเข้าถึงภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ โดยในเบื้องต้น ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งว่าไม่ขัดข้องที่จะให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าตรวจดูภาพจากกล้องวงจรปิดในศูนย์ซักถามได้ รวมทั้งเข้าพบบุคคลในระหว่างถูกควบคุมตัวด้วย โดยหลังจากนี้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า จะนำผลการหารือร่วมกับสำนักงาน กสม. เสนอแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และจะแจ้งผลดำเนินการกลับมายังสำนักงาน กสม. ต่อไป
ในคราวเดียวกันนี้ (วันที่ 22 เมษายน 2565) ที่โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รองเลขาธิการ กสม. และคณะ ได้ประชุมหารือร่วมกับนายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ถึงแนวทางการให้ความเห็นที่สองทางการแพทย์ในขั้นตอนการตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อประกอบการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่ามีการซ้อมทรมาน โดยได้รับทราบข้อมูลว่า การตรวจร่างกายบุคคลที่ถูกควบคุมตัว มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 นาที การดำเนินการจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบโดยสหสาขาวิชาชีพที่ใช้เวลา 1 – 3 สัปดาห์ การตรวจร่างกายจึงต้องมีลักษณะเป็นการประเมินเบื้องต้นโดยทีมงานย่อย (mini team) ที่ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ 3 คน ได้แก่ แพทย์ พยาบาลจิตเวช และนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ยินดีให้ความร่วมมือกับสำนักงาน กสม. ในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพการตรวจพิสูจน์และให้ความเห็นทางการแพทย์สำหรับใช้ประกอบการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่ามีการซ้อมทรมาน โดยจะเริ่มการอบรมนำร่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีข้อร้องเรียนอันเกี่ยวเนื่องกับการซ้อมทรมานเป็นจำนวนมากก่อน
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
12 พฤษภาคม 2565