ส่อเข้าตำรา”ปลาตายน้ำตื้น”ของแทร่!
กับเรื่องของนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมต.พลังงานที่กำลังถูกคณะกรรมการป.ป.ช.ตั้งแท่นไต่สวนกรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม กรณีแจกถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมภาตใต้ แต่กลับติดสติ๊กเกอร์ที่มีป้ายชื่อและหน้าตัวเองหราข้างถุง
ทั้งยังมีภาพถ่ายและคลิปวีดีโอที่ตัวเองยิ้มแฉ่งขณะแจกถุงยังชีพในหลายพื้นด้วยอีก เข้าข่ายกระทำการขัดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 ที่บัญญัติห้ามกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
มาตรฐานทางจริยธรรมที่ว่านี้ ในข้อ 2(4) ยังให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 219 วรรคสองด้วย
(https://www.nhrc.or.th/th/ethical-standards-and-requirements/183 )
นัยว่าสำนักงาน ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล และได้เชิญรัฐมนตรีรายนี้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ก่อนจะสรุปสำนวนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากพบว่ามีมูลความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจะส่งสำนวนฟ้องศาลฎีกาต่อไป
เป็นดาบแรกที่ทำเอารองนายกฯและรมต.พลังงานนั่งไม่ติด เพราะนักการเมืองหลายต่อหลายคนที่ถูกกล่าวหาในลักษณะนี้ล้วนจบชีวิตทางการเมืองเป็นใบไม้ร่วงมาแล้วทั้งสิ้น !
นอกเหนือจากกรณีแจกถุงยังชีพที่มีป้ายและหน้าตัวเองติดหราข้างถุงแล้ว รองนายกฯและรมต.พลังงานผู้นี้ยังถูก “นายสนธิญา สวัสดี” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการปปช.ให้ตรวจสอบกรณีมีชื่อถือหุ้นและยังคงเป็นกรรมการบริษัทในครอบครัวภายหลังเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯและรมต.พลังงานในรัฐบาล นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ด้วยอีก
ทั้งยังถูก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ส่งคำร้องลงวันที่ 5 พ.ค.ถึงประธานกรรมการ กกต.ขอให้ตรวจสอบนายพีระพันธุ์ว่า ความเป็นรัฐมนตรีมีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา170 (5) ประกอบมาตรา 187 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2562 เพราะในระหว่างเป็นรัฐมนตรี นายพีรัพันธ์ยังคงเป็นกรรมการอยู่ใน 3 บริษัท จึงอาจเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 วรรคหนึ่งด้วยอีก
เป็บดาบ2 ที่บรรดากูรูในแวดวงกฏหมายต่างก็ฟันธงว่ารุนแรงเสียยิ่งกว่ากรณีแจกถุงยังชีพนั่นเสียอีก เพราะหากกระทำผิดและฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 187 นี้จริงก็มีหวังอนาคตทางการเมืองดับลงไปโดยสิ้นเชิง!
กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 นั้นกำหนดไว้ชัดว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือต้องไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ
..หากยังถือหุ้นอยู่ให้มีการโอนหุ้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการหุ้นหรือบริษัทนั้นๆตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลรายการแสดงงบัญชีทรัพย์สินที่นายพีระพันธ์และคู่สมรสที่แจ้งต่อสำนักงานปปช.ในช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯและ รมต.พลังงานในรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน นั้นพบว่า นายพีระพันธุ์ ยังคงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอกชนหลายบริษัท และมีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามอย่างน้อยใน 4 บริษัทได้แก่
1.บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด ที่นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 588,500 หุ้น(คิดเป็น 73.58%) บริษัทนี้มีกรรมการ 3 คน ได้แก่ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด นายสยาม บางกุลธรรม และร้อยเอกพีระภัฎ บุญเจริญ
- บริษัท พี แอนด์ เอส แลนด์ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 46,500 หุ้น (คิดเป็น 93%) มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ น.ส.กนกวรรม ลิ้มสุวรรรณ และพล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด
3.บริษัท รพีโสภาค จำกัด บริษัทนี้ นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 22,000 หุ้น (คิดเป็น 73.33%) บริษัทนี้มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค และนางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค
และ 4.บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 1,000 หุ้น (คิดเป็น 10%) โดยบริษัทนี้มีกรรมการ 1 คน ได้แก่ น.ส.ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค
แม้นายพีระพันธุ์ จะแจ้งว่าได้โอนหุ้นทั้งหมดให้ บมจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ทำหน้าที่ดูแลจัดการทรัพย์สินตามกฏหมายตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.2567 แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่า นายพีระพันธุ์ ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัทรพีโสภาค จำกัด ที่ตนเอง (เคย)ถือหุ้นอยู่ 73.33% โดยที่ยังไม่ได้ลาออกแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่านายพีระพันธุ์ ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัทวีพี แอโร่เทค จำกัด และบริษัท โสภา คอนเล็คชั่น ก่อนจะแจ้งลาออกจากการเป็นกรรมการทั้งสองบริษัทเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 ทั้งที่นายพีระพันธ์เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2566 แล้ว
นั่นหมายความว่านายพีระพันธ์เข้าสู่ตำแหน่งรองนายกฯและรมว.พลังงาน ในขณะที่ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัทครอบครัวทั้ง 3 บริษัท เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ที่ห้ามไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทที่โอนหุ้นไปให้ให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินไปบริหารแล้ว
และยังถือเป็นการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 167 เป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์สาธารณะ ข้อที่ 7 ข้อที่ 8 ข้อที่ 11 ข้อที่ 17 ข้อที่ 22 ข้อกำหนดมาตรฐานด้านจริยธรรมฯ พ.ศ.2561 ด้วยอีก
แม้เจ้าตัวจะอ้างว่าถูก “ดิสเครดิต”กลั่นแกล้งทางการเมือง อันเป็นผลมาจากการทำงาน การทุบหม้อข้าวกลุ่มทุนพลังงานจนสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มทุนพลังงานทั้งหล่ยแหล่
แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดบกพร่องของตนเอง การที่นายพีระพันธ์ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ในบริษัทที่เป็นกิจการครอบครัว ระหว่างได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกฯและรมต.พลังงานนั้น สิ่งเหล่านี้หาได้เกี่ยวข้องกับการถูกกลั่นแกล้ง-ดิสเครดิตทางการเมือง แต่เป็นความสับเพร่าบกพร่องของตนเองนั่นแหละ!
แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้รัฐมนตรีแจ้งรายละเอียดบัญชีทรีพย์สินของตนเองและคู่สมรส ให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และจะต้องโอนหุ้นให้แก่นิติบุคคลไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นภายใน 90 วัน และต้องแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบภายใน 10 วัน ตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่นายพีระพันธ์กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ในส่วนนี้ตั้งแต่ต้น
ดังนั้นแม้เจ้าตัวจะโพสต์คลิปชี้แจงเหตุที่ถูกร้องเรียนว่า เป็นผลมาจากการต่อสู้ของตนในช่วงที่ผ่านมาทำให้ถูกเล่นงานในทุกรูปแบบจากกลุ่มทุนพลังงานที่ครอบฝำไปทุกที่ “ผมโดนกระหน่ำขนาดไหนไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ เขาพยายามเล่นงานผมทุกรูปแบบ แต่ผมไม่สนใจเพราะบอกไปแล้วว่ารู้อยู่แล้วต้องเจออะไร สิ่งที่น่าเป็นห่วงวันนี้ คือทุนพลังงานเพราะครอบงำไปทุกที่”
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองที่”ต้องมี” ได้รับการยกเว้น
และกูรูทางกฏหมายต่างก็ฟันธง ดาบ2 ที่กำลังจะมีตามมานั้น อาจถึงขั้นยุติบทบาททางการเมืองไปตลอดชีวิต
เข้าตำรา “ปลาตายน้ำตื้น”ขนานแท้!