ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
ค้านคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ที่จะนำแร่ตะกั่วของกลางจากกลางทุ่งใหญ่นเรศวรออกมา เพราะพบว่าแร่ของกลางหมดไปนานแล้ว ไม่มีอันตรายตามกล่าวอ้าง ไม่มีการนำไปประเทศเพื่อนบ้าน แนะให้มาสนใจการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากกิจกรรมเหมืองแร่ ซึ่งมีผลกระทบชัดเจนลงมาถึงอ่าวไทย และให้กลุ่มทำเหมืองแร่ผู้ก่อมลพิษมารับผิดชอบฟื้นฟู
จากกรณีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในการประชุมหาแนวทางจัดการแร่ตะกั่วกลางทุ่งใหญ่นเรศวร จากเหมืองปรองดี้ ซึ่งอ้างว่ามีเหลืออยู่ 3,510 ตัน หากปล่อยไว้จะมีการขนไปประเทศเพื่อนบ้านและมีอันตรายจากการรั่วไหล
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า เหมืองแร่บริเวณโดยรอบทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี เหมือนผีที่ลงโลงไปแล้ว จากกรณีพบการปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ธรรมชาติ ทั้งกรณีเหมืองแร่เถื่อนปรองดี้ เหมืองคลิตี้และเหมืองเค็มโก้ โดยมีมติคณะรัฐมนตรี 4 กระทรวงในปี 2545 ที่ให้หยุดกิจกรรมเหมืองแร่ทั้งหมดโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งมีการดำเนินการโดยผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกัน
นอกจากนี้ยังพบการประกอบการที่ปล่อยของเสียจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วลงสู่ลำห้วยธรรมชาติ จนทำให้ชาวบ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ เจ็บป่วยล้มตายและลำน้ำเสียหาย จนมีการฟ้องสู่ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ซึ่งศาลก็สั่งให้ผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคือลำห้วยคลิตี้ให้ดีดังเดิม แต่ผู้ประกอบการที่แพ้คดีก็ยังไม่มีการฟื้นฟูลำห้วยตามคำพิพากษาแต่อย่างใด
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนแร่จากเหมืองแร่เถื่อนปรองดี้ ซึ่งลักลอบทำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แทนที่จะมีการจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด กลับนำมาประมูลให้ได้แร่ไปอย่างถูกกฎหมาย และได้มีการให้ขนแร่ออกไปทำการแต่งแร่จนหมดแล้ว และมีการสรุปปิดประตูเหมืองแร่โดยรอบเขตทุ่งใหญ่นเรศวรแล้ว ในปี 2545
นอกจากนี้ไม่มีข้อเท็จจริงว่า จะมีการนำแร่ถ้ามีส่วนที่เหลือไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเหมืองแร่เถื่อนปรองดี้ทำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเข้มข้น อีกทั้งไม่มีข้อมูลการรั่วไหลหรืออันตรายแต่อย่างใดเลย เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆไม่มีข้อเท็จจริง เพื่อจะทำแร่เหมืองตะกั่วอีก
นายสุรพงษ์ กล่าว่า ในขณะที่การรั่วไหลและผลกระทบตลอดจนคำสั่งศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ในกรณีลำห้วยคลิตี้ที่พบว่าปนเปื้อนมลพิษเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ควรให้ความสำคัญเข้ามาตรวจสอบและกำกับดูแล เพราะปัจจุบันน้ำให้ลำห้วยคลิตี้ ยังคงเต็มไปด้วยมลพิษ และมลพิษเหล่านี้ไหลลงแม่น้ำแม่กลองตลอดเวลา และมีการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อมาใช้เป็นน้ำประปาสำหรับคนกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรีและคนจังหวัดใกล้เคียงใช้ และน้ำที่เหลือก็ลงสู่อ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศ
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการฯควรติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ของกรมควบคุมมลพิษ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้กรมควบคุมลพิษฟื้นฟูให้ปราศจากมลพิษดังเดิม แต่จนปัจจุบันน้ำในลำห้วยคลิตี้ยังเต็มไปด้วยมลพิษ และมีท่าทีว่ากรมควบคุมลพิษจะหยุดการดำเนินการฟื้นฟู ตลอดจนติดตามผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษก่อให้ความเสียหายต่อประชาชนและลำน้ำธรรมชาติ มาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งผู้ก่อมลพิษยังไม่แสดงความรับผิดชอบมาเริ่มดำเนินการเลย แต่ขณะเดียวกันกลับมีการมาขอขนแร่เพื่อไปดำเนินการอีก
อนึ่ง ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2541-2545 ได้มีมติหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งตกลงร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี, กรมป่าไม้, กรมควบคุมมลพิษ และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, คณะสมาชิกวุฒิสภา มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปศึกษาสภาพปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมาสรุปเป็นรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายเสน่ห์ จามริก ประธานมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และรัฐมนตรี 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีมติให้ยุติการทำกิจกรรมเหมืองแร่ โดยรอบเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งเหมืองแร่และโรงแต่งแร่อย่างเด็ดขาด และเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้รื้อถอนเครื่องจักร อุปกรณ์ บ้านพักคนงาน ออกนอกพื้นที่โดยเร็วที่สุด ตลอดจนดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรอบ
ประวัติการทำเหมืองแร่คือเดิมมีเหมืองแร่พุจืออยู่ในป่าลึกสุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขต จ.กาญจนบุรีมีพื้นที่ติดกับพม่า ต่อมาเมื่อเปิดมานานและแร่มีน้อยลงก็เกิดมีเหมืองแร่ตะกั่วในเขตพม่า คือเหมือง 4 เหมือง 5 และเหมือง 6 ในการดูแลของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ซึ่งมีถนนจากเหมืองแร่ตรงเข้าสู่เหมืองแร่พุจือ
ต่อมาในปี 2535 ทหารพม่าสามารถตีพื้นที่เหมืองทั้งสามได้ ทำให้ไม่มีแร่เข้ามาประเทศไทยอีก จนเกิดมีเหมืองแร่เถื่อนปรองดี้เกิดขึ้นในใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในปี 2538 เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจและกำลังทหารจากพล.ร. 9 ได้เข้าทลายเหมืองแร่ปรองดี้ รวมทั้งทลายเหมืองแร่พุจือที่ทำแร่โดยผิดกฎหมายด้วย
แร่ตะกั่วของกลางจากเหมืองแร่ปรองดี้ที่ยึดได้ กรมทรัพยากรธรณีได้เปิดประมูลขาย ซึ่งผู้มาประมูลก็มีอยู่เจ้าเดียว คือ กลุ่มเดียวที่ทำเหมืองแร่บริเวณนี้ทั้งพุจือ คลิตี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำเหมืองแร่ปรองดี้ด้วย และได้แร่ตะกั่ว 5,275 ตันไปในราคาเพียงกิโลกรัมละ 24 สตางค์ ซึ่งเป็นการทำให้แร่เถื่อนผิดกฎหมายกลายเป็นแร่ที่ถูกกฎหมายในราคาที่ถูกที่สุด โดยไม่มีการลงโทษหรือพบผู้กระทำผิดในการทำเหมืองแร่ปรองดี้เถื่อนเลย
โดยตลอดปี 2541 มีรถบรรทุกวันละกว่า 25 คันวิ่งขนแร่จากการประมูล 5,275 ตัน ผ่านกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งวันทั้งคืน ซึ่งแร่กลุ่มนี้ควรหมดภายในเวลาไม่ถึงเดือน กลับเป็นขนกันตลอดปีกองแร่ของกลางก็ไม่หมด จนมีข่าวและภาพในสื่อมวลชนระบุรถบรรทุกแร่ย่างเก้งกินริมลำห้วยดงวี่กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จึงสิ้นสุดการขนแร่