เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 ที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สมุทรสาคร นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้เกียรติเปิดการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึก พระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 14 มกราคม 2568 โดยมี นางสาวพัณพิณกัญจน์ ศกุนตะมาลิก ธนารักษ์พื้นที่สมุทรสาคร พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สมุทรสาคร ร่วมจัดมอบเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกฯ ให้แก่ประชาชนที่ทำการจับจองผ่านสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สมุทรสาคร ไว้ก่อนหน้านี้
เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 26,469 วัน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง ในการนี้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกในโอกาสสำคัญอันเป็นมหามงคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญชนมายุ 26,469 วัน ในวันที่14 มกราคม 2568 ที่ทรงเจริญพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โดยเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกมี จำนวน 6 ชนิด และเหรียญที่ระลึก จำนวน 2 ชนิด โดยเปิดจำหน่ายจ่ายแลก ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายเหรียญที่ระลึก หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย
สำหรับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก จำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงาทองคำความบริสุทธิ์ 99% ชนิดราคา 30,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญ ละ 70,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,500 เหรียญ),เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทธรรมดา ทองคำความบริสุทธิ์ 99 % ชนิดราคา 30,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 60,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,500 เหรียญ , เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทขัดเงา เงินความบริสุทธิ์ 92.5% ชนิดราคา 1,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร น้ำหนัก 22 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 3,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ),เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทธรรมดา เงินความบริสุทธิ์ 92.5% ชนิด ราคา 1,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร น้ำหนัก 22 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 1,500 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ) , เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทขัดเงา ชนิดราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 300 บาท (ผลิตไม่เกิน 50,000 เหรียญ), เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทธรรมดา ชนิดราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จ่ายแลกราคาเหรียญละ 20 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,000,000 เหรียญ)
ขณะที่การออกแบบเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรตินั้น จะมีลวดลาย ดังนี้ เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย เบื้องบนระหว่างสองพระองค์มีเครื่องหมายจักรีบรมราชวงศ์อยู่ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร – ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปปทุมอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และรูปเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่10 มีอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมี เหนือรัศมี มีเลข ๑๐ ภายใต้อุณาโลมใต้รูปพระราชลัญจกรและเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 มีข้อความบอกราคาว่า “๓๐๐๐๐ บาท” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “๑๔ มกราคม ๒๕๖๘ ประเทศไทย” และ“พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ตามลำดับ ส่วนเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทธรรมดา มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา , เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทขัดเงา มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๑๐๐๐ บาท” , เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทธรรมดา มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๑๐๐๐ บาท”, เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทขัดเงา มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงาเว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๒๐ บาท” และ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทธรรมดา มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงาเว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๒๐ บาท”
ด้านเหรียญที่ระลึก 2 ชนิด ประกอบด้วย 1.เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ ทองแดงความบริสุทธิ์ 95% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 มิลลิเมตร น้ำหนัก 150 กรัม ราคาเหรียญละ 3,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ) กับ 2.เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษทองแดงความบริสุทธิ์ 95% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร น้ำหนัก 13 กรัม ราคาเหรียญละ 200 บาท (ผลิตไม่เกิน 50,000 เหรียญ) โดยเหรียญที่ระลึกทั้ง 2 ประเภท มีลวดลายดังนี้ ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชฉลองพระองค์ครุย ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และพระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีลายไทยประดิษฐ์คั่นระหว่างพระปรมาภิไธยของทั้งสองพระองค์ ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราจักรีบรมราชวงศ์ ใต้รูปตราจักรีบรมราชวงศ์มีข้อความว่า “๑๔ มกราคม ๒๕๖๘ ประเทศไทย” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า“พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช”
ทั้งนี้ การเปิดจำหน่าย จ่ายแลก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกดังกล่าว มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป โดยในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือ สอบถามที่ 034 411712 ในวันและเวลาราชการ
อติชาตสุขยืนรายงาน









