ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการตำรวจทางหลวง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชลบุรี สกัดจับรถยนต์กระบะแต่งซิ่งสีส้ม ยี่ห้อ NISSAN รุ่น NAVARA ที่สวมป้ายทะเบียนเป็นรถแฝด ใช้ในการขนแรงงานต่างด้าวเถื่อน สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของรถคันจริงที่ถูกนำข้อมูลไปสวมสิทธิ์ จนได้รับใบสั่งจราจรอย่างไม่เป็นธรรม
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เวลาประมาณ 14.00 น. หลังจากผู้เสียหายรายหนึ่งได้ร้องเรียนผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ตำรวจทางหลวงชลบุรี” ว่ารถยนต์ NISSAN NAVARA สีส้ม หมายเลขทะเบียน 2ฒพ 4134 กรุงเทพมหานคร ของตน ถูกบุคคลอื่นนำไปสวมป้ายทะเบียนและก่อการกระทำผิดกฎหมายจราจรอยู่บ่อยครั้ง จนได้รับใบสั่งจากเจ้าพนักงานจราจร ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชลบุรี นำโดย พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง, พ.ต.ท.ตุลยวัต เมืองทอง รองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง, พ.ต.ท.อิทธิศักดิ์ ค้ำคูณ สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ พ.ต.ต.บดี ดวนพล สารวัตร สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง พบว่ารถที่กระทำความผิดมีลักษณะจงใจนำข้อมูลทะเบียนของผู้เสียหายมาสวมกับรถของตนเองในลักษณะ “รถแฝด” เพื่อใช้ในการขนแรงงานต่างด้าว
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมประกอบด้วย ร.ต.อ.ภิเชศ นาเมืองรักษ์ รองสารวัตร สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง, ร.ต.อ.เอกพจน์ พานแก้ว, ร.ต.ท.ภาสพงศ์ แพงคำ รองสารวัตร (ป) สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง, ด.ต.ฉัตรฒิญา สุขสาร, จ.ส.ต.พีระพล นิลเนตร และ จ.ส.ต.คมกริช นกแก้ว ได้ติดตามจนทราบว่ารถคันดังกล่าวขับผ่านมาบนทางหลวงหมายเลข 344 กิโลเมตรที่ 29 (มุ่งหน้าจังหวัดระยอง) จึงเข้าสกัดจับและควบคุมตัว นายจามร (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี สัญชาติไทย ผู้ขับขี่
จากการตรวจสอบเบื้องต้น นายจามรไม่สามารถแสดงคู่มือรถได้ และจากการตรวจสอบหมายเลขตัวถังรถยนต์คันดังกล่าว พบว่าเป็นของรถยนต์ทะเบียน 2ฒห 7904 กรุงเทพมหานคร ยี่ห้อ NISSAN รุ่น NAVARA สีส้ม โดยมีนางนิลชนกฯ เป็นผู้ครอบครอง ส่วนแผ่นป้ายทะเบียน 2ฒพ 4134 กรุงเทพมหานคร ที่ติดมากับตัวรถนั้น เป็นข้อมูลจดทะเบียนของนายพีระพงษ์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันจริงที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้ นอกจากนี้ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีที่ติดมากับรถก็มีลักษณะและข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นป้ายภาษีปลอม
นายจามรให้การในเบื้องต้นว่าได้รับรถยนต์คันดังกล่าวมาจากนายหนุ่ย เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา และได้รับการว่าจ้างให้นำไปใช้ในการรับ-ส่งบุคคลต่างด้าว โดยไม่ทราบมาก่อนว่าป้ายทะเบียนและป้ายภาษีที่ติดมากับรถเป็นของปลอม
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา “ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม” และนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านบึง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ตำรวจทางหลวงชลบุรี เตือนภัยประชาชน:
-การซื้อขายหรือเปลี่ยนมือรถยนต์ จะต้องมีการโอนผ่านทางทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก หรือขนส่งจังหวัดเท่านั้น
-การนำข้อมูลรถของผู้อื่นมาทำแผ่นป้ายทะเบียนหรือแผ่นป้ายภาษีขึ้นมาใหม่ ถือว่าเป็นการสวมทะเบียน ซึ่งมีความผิดในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชลบุรี ได้ติดต่อประสานงานกับนายพีระพงษ์ฯ ผู้เสียหาย เพื่อแจ้งความคืบหน้าในการจับกุมรถคันดังกล่าว และได้ติดต่อประสานงานกับนายชิตพลฯ ซึ่งเป็นเจ้าของรถที่แท้จริง เพื่อให้มารับรถคืน โดยผู้เสียหายและเจ้าของรถที่แท้จริงได้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชลบุรี ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ จนสามารถติดตามจับกุมรถที่กระทำความผิดได้ในที่สุด
หากประชาชนมีข้อมูลหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ พ.ต.ท.อิทธิศักดิ์ ค้ำคูณ สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง






