วันอังคาร, กรกฎาคม 22, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมCIB ผนึก อย. ทลายโกดังซุกวัตถุอันตราย-เครื่องสำอางเถื่อน มูลค่า 20 ล้านบาท!

Related Posts

CIB ผนึก อย. ทลายโกดังซุกวัตถุอันตราย-เครื่องสำอางเถื่อน มูลค่า 20 ล้านบาท!

10.30 น.วันที่ 22 ก.ค.68 ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารประชาอารักษ์ ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) กก.4 บก.ปคบ. ร่วม อย. บุกค้นโกดังซุกวัตถุอันตรายใช้ในครัวเรือน-เครื่องสำอางเถื่อน ลักลอบนำเข้า เตรียมส่งขายผู้บริโภค ยึดของกลางกว่า 4 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท”

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บุกทลายโกดังขนาดใหญ่ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ยึดวัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือนและเครื่องสำอางผิดกฎหมายที่ลักลอบนำเข้า เตรียมส่งขายผู้บริโภคกว่า 4 แสนชิ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท

การปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการขยายผลจากการเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก้ไขท่ออุดตันที่ไม่มีฉลากภาษาไทย และมีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีผู้เสียชีวิตจากการสูดดมก๊าซพิษที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจสอบโกดังแห่งหนึ่งในแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยขณะเข้าตรวจค้น พบแรงงานต่างชาติกำลังบรรจุสินค้าลงกล่องพัสดุเพื่อเตรียมจัดส่งให้ลูกค้า

ของกลางที่ตรวจยึดได้ประกอบด้วย:
* วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและสาธารณสุข ยี่ห้อ SEAWAYS กว่า 393,027 ชิ้น ซึ่งรวมถึงน้ำยาทำความสะอาดพื้น, ขจัดคราบสกปรก, ทำความสะอาดอเนกประสงค์, ล้างเครื่องซักผ้า, ขจัดท่ออุดตัน, ทำความสะอาดห้องครัว, ทำความสะอาดห้องน้ำ และกำจัดเชื้อราในครัวเรือน
* ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo กว่า 20,719 ชิ้น ซึ่งได้แก่ ครีมบำรุงผิวและครีมกันแดด
รวมของกลางทั้งหมด 413,746 ชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ซึ่งถูกส่งมอบให้พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
เปิดโปงเครือข่ายลักลอบนำเข้าจากจีน

จากการสอบถาม นางสาวอุทุมวัลย์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของสถานที่ ให้การว่าสินค้าทั้งหมดเป็นของลูกค้าชาวต่างชาติ โดยบริษัทจากประเทศจีนเป็นผู้ว่าจ้างให้เช่าโกดังเพื่อเก็บสินค้าและบรรจุจัดส่งให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยร้านค้าเป็นของชาวจีน เมื่อลูกค้าชาวไทยสั่งซื้อ ข้อมูลจะถูกส่งไปที่ร้านค้าในประเทศจีน จากนั้นร้านค้าจะส่งข้อมูลลูกค้าและสถานที่จัดส่งกลับมายังโกดัง พนักงานจะทำการพิมพ์ข้อมูลและบรรจุสินค้าส่งให้ผู้ซื้อ โดยมียอดการจัดส่งประมาณ 7,000 – 9,000 ชิ้นต่อวัน และได้รับค่าจ้างบรรจุชิ้นละ 5 – 7 บาท ซึ่งดำเนินการมาแล้วประมาณ 3 ปี

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายยี่ห้อ SEAWAYS หลายรายการไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริง ไม่ขึ้นทะเบียน และบางรายการแม้จะยื่นคำขอจดทะเบียน แต่ไม่พบข้อมูลการนำเข้าผ่านด่าน อย. แต่อย่างใด เนื่องจากวัตถุอันตรายเหล่านี้ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทั้งการผลิต นำเข้า หรือครอบครอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคล สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo ก็ไม่พบข้อมูลการนำเข้าที่ถูกต้องตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา

บทลงโทษหนักสำหรับผู้กระทำผิด
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีอัตราโทษดังนี้:

  • มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายไม่แจ้งข้อเท็จจริง: จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน: จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ขายวัตถุอันตรายที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย และแสดงฉลากไม่ถูกต้อง: จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง: ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง: จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง: ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
    อย. และ ปคบ. ย้ำเตือนภัยผู้บริโภค

นายแพทย์รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขอขอบคุณตำรวจ บก.ปคบ. ที่สืบสวนขยายผลจนนำไปสู่การจับกุมครั้งนี้ พร้อมย้ำเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ โดยเฉพาะวัตถุอันตรายและเครื่องสำอาง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย มีเลขแจ้งข้อเท็จจริงหรือเลขทะเบียนวัตถุอันตราย (วอส.) และเครื่องสำอางต้องมีเลขจดแจ้งที่ถูกต้อง อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่อ้างว่าเป็นสินค้านำเข้า ราคาถูกเกินจริง หรือเป็นการซื้อแบบตัดล็อต เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้สินค้าปลอม ไม่มีคุณภาพ อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ผิวหนังระคายเคือง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ได้ฝากความห่วงใยถึงประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายสำหรับใช้ในบ้านเรือน เช่น น้ำยาขจัดท่ออุดตัน, น้ำยาทำความสะอาดห้องครัว หรือห้องน้ำ จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ก่อนซื้อต้องตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีภาษาไทยกำกับและมีเลขผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย (วอส.) เนื่องจากมีสารเคมีที่เป็นส่วนผสมซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อคน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และระมัดระวังราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดมากเกินไป พร้อมเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ผ่านมาตรฐานให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือมีข้อสงสัย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่านช่องทาง Emmail: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และสายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค ตลอด 24 ชั่วโมง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts