“…“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส รับเรื่องร้องเรียนจากนักแสดงชื่อดัง “เกรซ กาญจน์เกล้า” ถูกแอบอ้างชื่อเปิดเพจหลอกลวงแฟนคลับ หลอกลวงร่วมลงทุนธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ทิพย์ ล่าสุดแจ้งเฟซบุ๊กเร่งปิดกั้นเพจปลอม และประสานงานตำรวจแกะรอยเส้นทางบัญชีโอนเงินมิจฉาชีพ กร้าวคดีนี้ผิดทั้ง กม.อาญา พ.ร.บ.คอมพ์ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และกฎหมาย PDPA…”
[inline_related_posts title=”คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้” title_align=”left” style=”list” number=”4″ align=”none” ids=”” by=”categories” orderby=”rand” order=”DESC” hide_thumb=”no” thumb_right=”no” views=”no” date=”yes” grid_columns=”2″ post_type=”” tax=””]
วันนี้ (8 มิ.ย. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (รองผบก.สอท.1) แถลงข่าว “เกรซ กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า นักแสดง เดินทางมายื่นเรื่องต่อรมว.ดิจิทัลฯ พร้อมแจ้งความออนไลน์ กรณีถูกปลอมเฟซบุ๊ก” พร้อมเรียกร้องปิดเพจปลอมทันที
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ นักแสดงชื่อดัง นางสาวกาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า (เกรซ กาญจน์เกล้า) เดินทางมาร้องเรียนกรณีถูกแอบอ้างชื่อและรูปภาพ ไปสร้างเพจ ‘เกรซ กาญจน์เกล้าFc!’ และมีพฤติกรรมจ่ายเงินค่าโปรโมทโพสต์ (Boost Posts) กับเฟซบุ๊ก ให้มียอดคนจำนวนมากเห็นโพสต์ และหลอกลวงมาร่วมลงทุนทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์กับเกรซ มีผู้เสียหายจำนวนมาก ขณะที่ตัวนักแสดงก็ได้รับผลกระทบจากการเสียชื่อเสียงด้วย
โดยหลังรับทราบว่ามีมิจฉาชีพนำชื่อไปอ้างเปิดเพจ เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย. 65) ทางเกรซ กาญจน์เกล้า ได้โพสต์ชี้แจงแฟนคลับว่า “เนื่องด้วยเกรซได้รับทราบข้อมูลจาก พี่บุ๋ม ปนัดดา ว่ามีบุคคลแอบอ้างสร้างเพจ ‘เกรซ กาญจน์เกล้าFc!’ โดยนำเพจดังกล่าวไปบูสท์โพสต์หลอกให้ร่วมลงทุน หลายล้านบาท โดยอ้างว่าทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์กับเกรซ จนมีผู้เสียหายหลายรายได้นำเรื่องราวทั้งหมดมาแจ้งให้ทางทีมพี่บุ๋มทราบ ทั้งนี้หลังทราบเรื่องเกรซไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงขอชี้แจงว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์นี้ รวมถึงจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุดค่ะ”
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ล่าสุดได้ประสานกับทางเฟซบุ๊ก เพื่อทำการปิดกั้นเพจปลอมดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกัน เตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยพฤติกรรมของมิจฉาชีพดังกล่าว อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (2) และมาตรา 343 วรรคสอง กระทำความผิดฐานฉ้อโกง แสดงตนเป็นคนอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
มาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และมาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท และ
รวมทั้ง อาจเข้าข่ายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 27 (2) เผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความรับผิดทางทางแพ่งมาตรา 77 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ เกรซ กาญจน์เกล้า ได้ดำเนินการแจ้งความออนไลน์แล้ว ผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเปิดให้มีการแจ้งความออนไลน์ในส่วนของคดีออนไลน์ตลอด 24 ชม. เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รองผบก.สอท.1 กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนต้องเตรียมเพิ่มเติมไว้ล่วงหน้าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแจ้งความ ผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ดังนี้ 1.บัตรประจำตัว โดยในการลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูล ทั้งหมายเลขบัตรและหมายเลขหลังบัตรประชาชน เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน 2.ใส่ email ส่วนตัว เพราะหลังจากกรอกรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ระบบจะส่งรหัส OTP ผ่านทาง email เพื่อจะนำมากรอกในระบบ ใช้ยืนยันตัวตนผู้แจ้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการถัดไป
3. ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับคดี ทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาเท่าที่ทราบcได้แก่ ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม ช่องทางติดต่ออื่นๆ เช่น Line, Facebook, Instagram, Twitter เป็นต้น รวมถึงรูปแบบคำโฆษณาของมิจฉาชีพ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีอื่นๆ ที่เคยแจ้งมาก่อน และจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบหาคนร้ายที่ทำในรูปแบบขบวนการ
“หลังจากได้รับข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล และส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความ จากนั้นจะเริ่มดำเนินกระบวนการสืบสวนในทันที โดยพนักงานสอบสวนจะทำการโทรนัดหมายผู้แจ้งหรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ อายัดบัญชี ทำการออกหมายเรียก และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทางคดีตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมทั้งจะรายงานความคืบหน้าคดีในระบบออนไลน์ ซึ่งผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา” พ.ต.อ.ทำนุรัฐกล่าว
ด้านเกรซ กาญจน์เกล้า กล่าวว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่ เห็นโพสต์ชวนลงทุนจากเพจปลอมดังกล่าวที่มีการยิงแอด เมื่อผู้เสียหายทักเข้าไป แอดมินเพจจะให้ผู้เสียหายแอดไลน์ เพื่อคุยต่อทางไลน์ จากนั้นมิจฉาชีพ จะพูดหว่านล้อมผู้เสียหายจนเกิดความโลภ ลักษณะการจูงใจผู้เสียหาย โดยการส่งลิงก์ https://triplerouys.cc/tg/login/index.html เป็นลิงก์เว็บของมิจฉาชีพที่สร้างขึ้นมาหน้าตาคล้ายๆพวกแอปร้านค้าออนไลน์แพลตฟอร์มดัง
“มิจฉาชีพจะอ้างว่า เป็นการลงทุนซื้อสินค้าขายในเว็บ แล้วอ้างว่าเว็บนี้ระบบได้ผูกเชื่อมโยงกับลาซาด้า ช้อปปี้ ลงทุน 100 บาท เมื่อผู้เสียหายโอนเงิน 100 บาท ระบบจะเติมเครดิต 100 บาท ในเว็บและให้ผู้เสียหายเข้าไปกดรับเลือกสินค้าลงตะกร้าเพื่อขาย กดรับสินค้าสัก 10 นาที ระบบจะแจ้งว่า สินค้าขายได้แล้ว มีผู้มากดซื้อไปแล้ว มีเงินเครดิตเข้าให้ผู้เสียหายในระบบ แต่ผู้เสียหายยังถอนเงินไม่ได้ แล้วมีการพูดจาโน้มน้าว จนผู้เสียหายหลงกลทยอยโอนเงินเข้าไปเป็นจำนวนมาก กว่าจะรู้ตัวก็โอนไปกันเยอะ”
พร้อมกันนี้ ได้แนะนำแฟนคลับที่ถูกหลอกลวงให้ไปแจ้งความ ซึ่งมีผู้เสียหายแต่ละรายโอนเงินไปหลักหมื่น-หลายแสนบาท และแม้ประกาศผ่านช่องทางเฟซบุ๊กตัวเอง เมื่อคืนวานเพจดังกล่าวก็ยังอยู่และไม่หยุดพฤติกรรมหลอกลวง จึงคิดว่าการดำเนินการแค่นั้นไม่เพียงพอแล้ว ดังนั้น ตัดสินใจเข้ามาร้องเรียนและแจ้งความ ซึ่งทราบว่ามีช่องทางแจ้งความออนไลน์ที่สะดวกและรวดเร็ว จึงได้เดินทางมายังกระทรวงฯ และดำเนินการแจ้งความออนไลน์ ซึ่งมองว่าช่องทางนี้สามารถรวมผู้เสียหายให้มาแจ้งความคดีลักษณะนี้ได้ด้วย