วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจสุดช็อก ! “ล้วงไส้ใน” คะแนนเทคนิค ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

Related Posts

สุดช็อก ! “ล้วงไส้ใน” คะแนนเทคนิค ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

“…”ดร.สามารถ” เผย สุดช็อก! “ล้วงไส้ใน” คะแนนเทคนิค ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก…”

[inline_related_posts title=”คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้” title_align=”left” style=”list” number=”4″ align=”none” ids=”” by=”categories” orderby=”rand” order=”DESC” hide_thumb=”no” thumb_right=”no” views=”no” date=”yes” grid_columns=”2″ post_type=”” tax=””]

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเช้านี้ ระบุว่า สุดช็อก! “ล้วงไส้ใน” คะแนนเทคนิค ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก น่าติดตามว่าทำไม รฟม. จึงเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ครั้งที่ 2 หลังล้มการประมูลครั้งที่ 1 และเมื่อดูไส้ในของคะแนนด้านเทคนิคแล้ว ยิ่งน่าติดตาม

1. คะแนนด้านเทคนิคในการประมูลครั้งที่ 1
ในการประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 85% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน ใครเสนอผลตอบแทนสุทธิ (ผลตอบแทนที่จะให้ รฟม. – เงินสนับสนุนที่ขอรับจาก รฟม.) สูงสุดก็จะชนะการประมูล

รายละเอียดของคะแนนในแต่ละหัวข้อซึ่งมีทั้งหมด 5 หัวข้อ มีดังนี้
(1) โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน คะแนน 10%
(2) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา คะแนน 40%
(3) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า คะแนน 15%
(4) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา คะแนน 30% และ
(5) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรม คะแนน 5%
แต่ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ถูกฟ้อง ในที่สุด รฟม. ได้ล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ต้องเปิดประมูลครั้งที่ 2

2. คะแนนด้านเทคนิคในการประมูลครั้งที่ 2
ขณะนี้ รฟม. กำลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 โดยกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 85% (เพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 80%)และจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 90% (เพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85%) จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน ใครเสนอผลตอบแทนสุทธิ (ผลตอบแทนที่จะให้ รฟม. – เงินสนับสนุนที่ขอรับจาก รฟม.) สูงสุดก็จะชนะการประมูล

รายละเอียดของคะแนนในแต่ละหัวข้อซึ่งมีทั้งหมด 4 หัวข้อ (ลดลงจากการประมูลครั้งแรก 1หัวข้อ) มีดังนี้
(1) โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน คะแนน 10% เท่ากับการประมูลครั้งแรก
(2) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา คะแนน 50% เพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งแรก 10%
(3) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า คะแนน 10%  ลดลงจากการประมูลครั้งแรก 5% และ
(4) แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา คะแนน 30% เท่ากับการประมูลครั้งแรก
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าการประมูลครั้งที่ 2 นี้ รฟม. ได้ตัดหัวข้อแนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรมออกไป ไม่มีคะแนนให้เลย

3. ข้อสังเกตในการเพิ่มคะแนนด้านเทคนิค
3.1 เปรียบเทียบกับการประมูลครั้งที่ 1
(1) รฟม. ได้เพิ่มคะแนนในหัวข้อ แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา จาก 40% เป็น 50%
การเพิ่มคะแนนในหัวข้อนี้จะทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีผู้เหมารายใหญ่ซึ่งมีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภท ตามที่ รฟม. กำหนดร่วมด้วย มีโอกาสได้คะแนนสูงถึง 50% ส่งผลให้มีโอกาสผ่านเกณฑ์เทคนิคสูง ในขณะที่ผู้ยื่นข้อเสนอที่ไม่สามารถหาผู้รับเหมารายใหญ่มาร่วมได้ โอกาสที่จะได้คะแนนในหัวข้อนี้สูงนั้นยาก ทำให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคได้ยาก
อันที่จริงคะแนนในหัวข้อนี้ที่เดิม รฟม. กำหนดไว้ 40% ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดีแล้ว และเป็นคะแนนที่สูงกว่าหัวข้ออื่นอยู่แล้ว ถือว่า รฟม. ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธามากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีก

การที่ รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาไว้อย่างยากที่จะหาผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่ รฟม. กำหนด เนื่องจากจะต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย และจะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ ทำให้ผู้สนใจที่จะยื่นข้อเสนอหาผู้รับเหมามาร่วมยื่นประมูลด้วยได้ยาก ถ้าหาได้ก็ต้องใช้ผู้รับเหมา 2-3 ราย โอกาสที่จะได้คะแนนสูงในหัวข้อนี้ก็ยาก
ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มคะแนนในหัวข้อนี้ จะทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบขึ้นหรือไม่ ?
(2) รฟม. ลดคะแนนในหัวข้อ แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า จาก 15% เหลือ 10%

การทำเช่นนี้เป็นการลดความสำคัญของงานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจของการให้บริการเดินรถที่ต้องมีความสะดวก สบาย ปลอดภัย และตรงต่อเวลา ทั้งนี้ ระบบรถไฟฟ้าจะต้องคำนึงโครงสร้างของตัวรถ สมรรถนะในการวิ่ง ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถ ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสาร และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงรักษาภายในและภายนอกศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา
(3) รฟม. ตัดหัวข้อแนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรมออกไป ไม่มีคะแนนให้เลย ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ในอนาคต

3.2 เปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม.
เมื่อเปรียบเทียบคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 กับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค) และสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) พบว่าคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 สูงกว่าคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายถึง 20% และสูงกว่าสายสีม่วงใต้ 5% ทั้งๆ ที่ใช้เทคนิคขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน
จึงเป็นปริศนาว่าทำไม รฟม. จึงทำเช่นนี้ ?

4. ใครเสียประโยชน์ ?
การเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคอาจทำให้มีผู้ยื่นข้อเสนอที่สามารถผ่านเกณฑ์เทคนิคได้จำนวนน้อยราย การแข่งขันที่จะเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. ก็จะลดลง ทำให้ รฟม. ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้
ที่สำคัญ แม้ว่าในขณะนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ใกล้จะแล้วเสร็จแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ เนื่องจากยังไม่มีผู้เดินรถ ต้องรอผู้เดินรถจากการประมูลครั้งที่ 2 นี้
ด้วยเหตุนี้ ความล่าช้าในการเปิดให้บริการ จะทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รอใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มต้องเดือดร้อนกับการฝ่าฟันวิกฤตจราจรต่อไป

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง


รฟม. ชี้แจงเกณฑ์คัดประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รฟม. ชี้แจงเกณฑ์คัดประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ว่า ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีข่าวประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม. ขอยืนยันข้อเท็จจริงในประเด็นการกำหนดคุณสมบัติด้านงานโยธาและด้านเทคนิคของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ดังนี้

1. งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกฯ เป็นโครงสร้างที่อยู่ใต้ดินทั้งหมด การก่อสร้างมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีเฉพาะ และมีเส้นทางผ่านโบราณสถานและสถานที่สำคัญหลายแห่งซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนและมีข้อจำกัดทางกายภาพ มักประสบปัญหาในระหว่างการก่อสร้างได้ เช่น กรณีน้ำใต้ดินรั่วซึมเข้าพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน กรณีหลังคาอุโมงค์ทางลอดรถไฟถล่ม กรณีผนังอุโมงค์ผันน้ำถล่มในขณะก่อสร้าง และกรณีสะพานข้ามคลองทรุดตัวจากการก่อสร้างอุโมงค์ เป็นต้น ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้เอกชนที่ขาดประสบการณ์ ไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมการประชุม จึงได้พิจารณากำหนดเกณฑ์คะแนนในการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค โดยมีเกณฑ์คะแนนรวมต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เพื่อให้ได้เอกชนที่มีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนของผู้ชนะการประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ที่ผู้ชนะการคัดเลือกในแต่ละสัญญาได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 90

2. ข้อกำหนดด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดในลักษณะเปิดกว้างให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถนำผลงานของผู้รับจ้างงานโยธาหลายรายมารวมกันได้ เพื่อให้มีผลงานครบถ้วนทั้ง 3 งาน ตามที่กำหนด ซึ่งเป็นปกติของงานโครงการก่อสร้างโครงการใต้ดินขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ผู้รับจ้างงานโยธาหลายรายในการดำเนินงาน

3. ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติแล้ว จะต้องผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นลำดับถัดไป โดยจะพิจารณาจากรายละเอียดข้อเสนอด้านเทคนิคที่ผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำขึ้นเท่านั้น โดยต้องผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 90 ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 จึงอาจไม่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2

นึ่ง รฟม. ขอตั้งข้อสังเกต กรณีบุคคลบางท่านนำข้อมูลเพียงบางส่วนในเอกสารประกาศเชิญชวนมาใช้วิจารณ์ และคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในการยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนนั้น ควรพิจารณานำเสนอข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ รฟม. ขอยืนยันว่า การกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือก คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้เข้ายื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เป็นการกำหนดที่เปิดกว้าง ทำให้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้มากราย เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม มีกระบวนการตรวจสอบจากภาคเอกชนตามระบบข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts