วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกอาชญากรรม(กสม.แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 21/2565)

Related Posts

(กสม.แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 21/2565)

“…กสม. ชี้กรณีโรงเรียนเอกชนกดดันให้นักเรียนออกจากโรงเรียนและแจ้งความเอาผิดผู้ปกครองในหลายท้องที่ เป็นการละเมิดสิทธิฯ – จับมือสำนักงานอัยการสูงสุด – สำนักงานศาลปกครอง ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม…”

[inline_related_posts title=”คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้” title_align=”left” style=”list” number=”4″ align=”none” ids=”” by=”categories” orderby=”rand” order=”DESC” hide_thumb=”no” thumb_right=”no” views=”no” date=”yes” grid_columns=”2″ post_type=”” tax=””]

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เวลา 11.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 21/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

1. กสม. ชี้กรณีโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งกดดันให้นักเรียนออกจากโรงเรียน และแจ้งความเอาผิดผู้ปกครอง ซึ่งจัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กสมาคมผู้ปกครอง เป็นการละเมิดสิทธิฯ

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนเมษายน 2564 จากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ปกครองที่มีบุตรสาวศึกษาในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้อง) ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนเอกชนดังกล่าวทำร้ายร่างกายเด็กเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2563 ผู้ร้องจึงได้จัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กสมาคมผู้ปกครองเพื่อเป็นช่องทางในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน และเพื่อรวบรวมประเด็นความคิดเห็นเสนอต่อโรงเรียนนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องได้นำเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งให้กับสื่อมวลชนของโรงเรียนแห่งดังกล่าวเผยแพร่ในกลุ่มเฟซบุ๊กสมาคมผู้ปกครอง เป็นเหตุให้โรงเรียนมีหนังสือเมื่อเดือน ธันวาคม 2563 แจ้งให้ผู้ร้องหาโรงเรียนใหม่ให้กับบุตรสาวของผู้ร้องภายใน 90 วัน พร้อมกับได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ร้องด้วยฐานความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อสถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3) และสถานีตำรวจในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและเชียงใหม่ด้วย นั้น

กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การกระทำของโรงเรียนในการมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องหาโรงเรียนใหม่ให้แก่บุตรสาวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า แม้การแจ้งให้ผู้ร้องหาโรงเรียนใหม่ให้แก่บุตรภายใน 90 วัน จะไม่ใช่การให้บุตรสาวของผู้ร้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนโดยตรง แต่ก็เป็นการสร้างความกดดันแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ปกครองของบุตร โดยที่กรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการกระทำอันเกิดจากความผิดทางวินัยหรือความรับผิดอื่นที่สถานศึกษาสามารถสั่งลงโทษได้ แต่เป็นกรณีการพิพาทกันระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง ประกอบกับการที่โรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องในช่วงระหว่างปีการศึกษา ย่อมสร้างภาระแก่ผู้ร้องในการหาสถานศึกษาใหม่ในระหว่างภาคปีการศึกษา ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเรียนของเด็กและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้มีหนังสือเมื่อเดือนธันวาคม 2563 แจ้งไปยังผู้ร้องและโรงเรียนแห่งดังกล่าว โดยยืนยันว่าโรงเรียนไม่สามารถให้เด็กออกจากสถานศึกษาได้ เว้นแต่ผู้ปกครองจะย้ายสถานศึกษาเอง และขอให้โรงเรียนเจรจากับผู้ร้องเพื่อไม่ให้กระทบถึงสิทธิเด็ก แต่โรงเรียนมิได้ดำเนินการใด อันถือเป็นการเพิกเฉยต่อคำสั่งของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และเมื่อพิจารณาเหตุผลที่ผู้ร้องได้ตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนรวมถึงสอดส่องเฝ้าระวังพฤติกรรมของบุคลากรของโรงเรียนเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการทำร้ายร่างกายเด็กอีก พร้อมขอให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองนักเรียน นั้น ก็ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่มกันในรูปแบบหนึ่ง อันสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 42 และข้อเสนอแนะตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 อันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่บุคลากรของโรงเรียนแห่งดังกล่าวได้กระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนปฐมวัย ซึ่ง กสม. มีข้อเสนอให้โรงเรียนสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือชุมชน เช่น การจัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ปกครองเพื่อช่วยเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ด้วย การกระทำดังกล่าวของโรงเรียน จึงกระทบต่อสิทธิในการได้รับการศึกษาของบุตรสาวของผู้ร้อง อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 2 การกระทำของโรงเรียนในการแจ้งความดำเนินคดีผู้ร้องต่อสถานีตำรวจในหลายท้องที่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า วิธีการแจ้งความเอาผิดผู้ร้องของโรงเรียนแห่งดังกล่าวต่อสถานีตำรวจในสี่ท้องที่ต่างภูมิภาคกัน โดยอ้างว่าเป็นสถานที่พบเจอการกระทำความผิดของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อันนำไปสู่การจับกุมผู้ร้องต่อหน้านักเรียน บุคลากรของโรงเรียน และผู้ปกครองอื่นด้วย นั้น เป็นการแจ้งความร้องทุกข์ในประเด็นเดิม ข้อกล่าวหาเดิม ในช่วงเวลาต่างกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ร้องต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในท้องที่หลายแห่งตามภูมิภาคต่าง ๆ และเมื่อพิจารณาเจตนาการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของผู้ร้องซึ่งเป็นการตั้งคำถามและข้อร้องเรียนต่อการคัดสรรบุคคลากรของโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้กำลังทำร้ายเด็กนักเรียนเพื่อจะได้ป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก นั้น การกระทำของโรงเรียนจึงเข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีโดยไม่สุจริตอันเป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้ร้องกล้าแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ซึ่งกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและเสรีภาพในการแสดงความเห็น จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

ประเด็นที่ 3 การกระทำของสถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3) ในการดำเนินการจับกุมผู้ร้องเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า การเข้าจับกุมผู้ร้องโดยผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3 ตามหมายศาล มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แม้ผู้ร้องจะกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับหมายเรียกจากผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเข้าให้ถ้อยคำ แต่ผู้ถูกร้องที่ 2 แจ้งว่าได้มีการออกหมายเรียกผู้ร้องถึงสองครั้ง แต่ไม่มีผู้ที่รับหมาย อันนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ออกหมายจับดังกล่าว ในชั้นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงการที่ต้องส่งตัวผู้ร้องจากสถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังสถานีตำรวจท้องที่ คือ สถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี พบว่า ก่อให้เกิดความยุ่งยาก ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชนหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย การรับแจ้งความดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าว ตลอดจนการออกหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อสถานีตำรวจด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันและต่อผู้เสียหายเดียวกัน จึงเป็นการเพิ่มภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูลที่พนักงานสอบสวนย่อมสามารถใช้ส่งข้อมูลหรือสอบสวนทางไกลผ่านระบบออนไลน์ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 จึงมีมติว่าการกระทำของโรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ไปยังผู้ถูกร้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

1) ให้โรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าวดำเนินการเยียวยาต่อผลที่เกิดจากการกระทำของตนและให้เร่งจัดทำมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง และตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs)

2) ให้กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าว และกรณีอื่น ๆ ที่สถานศึกษาดำเนินการกดดันหรือให้นักเรียนหรือนักศึกษาออกจากสถานศึกษา ทั้งนี้ ขอให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

3) ให้สถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3) พิจารณารวบรวมและเร่งรัดการดำเนินคดีต่อผู้ร้องในประเด็นข้อพิพาทกับโรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าว โดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ร้องในการเดินทางและการต่อสู้คดีที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องเกินสมควร

4) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาปรับปรุงแนวปฏิบัติของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เป็นลักษณะกรรมเดียวที่มีการร้องทุกข์ในหลายพื้นที่ ในทางที่ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ อาทิ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อกล่าวหา การพิจารณารวบรวมสำนวนเข้าด้วยกัน หรือการนำเทคโนโลยีมาประกอบการใช้เรียกผู้ถูกกล่าวหาเข้าพบ ตลอดจนการสอบสวนทั้งผู้เสียหาย ผู้ถูกกล่าวหา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระการเดินทางและค่าใช้จ่ายอันอาจเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

5) ให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเร่งผลักดันการออกกฎหมายที่มีหลักการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก หรือการดำเนินคดีโดยไม่สุจริต เพื่อเป็นการปิดปากการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยขอให้พิจารณาให้มีความครอบคลุมถึงกรณีเอกชนฟ้องเอกชนด้วย

2. กสม. จับมือสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลปกครอง พัฒนาความร่วมมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีนโยบายเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม นั้น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดย นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด โดยมีเจตจำนงเพื่อประสานความร่วมมือกันในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2565 โดย กสม. และสำนักงานอัยการสูงสุด จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันตามกรอบภารกิจและหน้าที่และอำนาจของตนใน 3 แนวทาง ดังนี้ (1) ร่วมมือกันพัฒนาระบบงานยุติธรรม การอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย (2) บูรณาการและประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบข้อมูลด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและการติดตามผล รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการส่งต่อข้อมูล เอกสาร หรือพยานหลักฐาน และ (3) ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของแต่ละหน่วยงานด้านการศึกษา การวิจัย การฝึกอบรม และการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

“นอกจากความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว กสม. ยังได้หารือกับสำนักงานศาลปกครอง เพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์กรในด้านกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือทางด้านวิชาการ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกับกฎหมายปกครอง การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนของ กสม. และข้อมูลคดีปกครอง การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมทางปกครองและหลักสิทธิมนุษยชนสู่สาธารณะ การประสานงานในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. ที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดย สำนักงาน กสม. และสำนักงานศาลปกครองมีแผนจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้” ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
9 มิถุนายน 2565

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts