ไฮไลท์การเมือง : สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เร่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model หลังรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ชูแนวคิดดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อเพิ่มมูลค่าเน้นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล พร้อมทั้งพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลได้ประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงฯมุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายหลัก คือ 1. สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ 2. สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม 3. สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย และ 4. ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนให้ความสำคัญ พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า สศอ. ได้เล็งเห็นความสำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทั้งในระดับสากลและวาระแห่งชาติเรื่อง BCG Economy Model จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์มุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์(Zero Waste) เน้นการปรับโครงสร้างการผลิตสู่รูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย จนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดการใช้ทรัพยากร ปรับกระบวนการผลิตและการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยนำของเสีย/วัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจสู่โมเดลธุรกิจหมุนเวียน และการสร้าง Circular Startup
นายทองชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมข้างต้นแล้ว สศอ. ยังได้นำเสนอมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา (Cross-cutting Measures) ครอบคลุมทั้งในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-system) ต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบการมาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน การปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนการนำขยะ/ของเสียไปใช้เป็นทรัพยากรในการผลิต มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น โดย สศอ. ได้ผลักดันข้อเสนอมาตรการเหล่านี้ผ่านกลไกขับเคลื่อน BCG Model ในระดับประเทศ ควบคู่กับการผลักดันการดำเนินงานผ่านกลไกความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา สศอ. มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยให้การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนำร่องในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งกำหนดรูปแบบความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานและโมเดลต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในสาขาผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ ที่พร้อมนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป
Advertising