วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์การสรรหาเอ็มดี บสย.คนใหม่

Related Posts

การสรรหาเอ็มดี บสย.คนใหม่

ไฮไลท์การเมือง : เมื่อกลางเดือนเมษายน ผมเคยเขียนถึงเรื่องการสรรหาเอ็มดีคนใหม่ของ บสย. หลังจากที่ตำแหน่งนี้ว่างลงเมื่อวันที่ 1 เมษายน 64 เนื่องจาก ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร อดีตกรรมการและผู้จัดการทั่วไป หรือ เอ็มดี ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไปรับตำแหน่งใหม่ คือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK อย่างเป็นทางการ ทำให้ตำแหน่งเอ็มดีของ บสย. ว่างลง

มาวันนี้ ทาง บสย. มีการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็น ผู้จัดการทั่วไป หรือ เอ็มดี คนใหม่ ของ บสย.แล้วครับ โดยเปิดรับสมัครถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ผมอยากให้คนดีๆ คนเก่งๆ คนมีฝีมือ ไปสมัครกันเยอะๆครับ คณะกรรมการสรรหาจะได้มีตัวเลือกมากๆ คัดเลือกไปเป็นเอ็มดี บสย.ครับ ไม่ใช่มีแค่ผู้สมัครเพียงคนเดียว หรือคนสองคน ไปสมัครกัน เหมือนการสรรหาที่ผ่านๆมา

ระยะหลังๆมานี้ จะเห็นได้ว่า การสรรหาบุคคลไปเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรของรัฐแทบทุกแห่ง จะมีคนไปสมัครกันน้อยมาก บางแห่งมีคนสมัครคนเดียว จนบ่อยครั้งต้องมีการเปิดรับสมัครรอบสองรอบสาม แต่ก็ยังไม่มีคนไปสมัคร ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมักจะมีข่าวลือการล็อคสเป็คหรือล็อคตัวบุคคลไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเอาใครไปเป็น (หรือที่เรียกว่า”มีตั๋ว” ให้กับคนใดคนหนึ่งไว้แล้ว) ซึ่งจะเป็นข่าวจริงหรือข่าวไม่จริงไม่มีใครทราบได้ แต่ก็ทำให้คนทั่วไปไม่กล้าไปสมัคร เพราะสมัครไปก็ไม่ได้เป็นแถมเสียเรคคอร์ดประวัติเปล่าๆ

บสย. หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีกแห่งหนึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังครับ ที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดย บสย.ทำหน้าที่ค้ำประกันการขอสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอ ได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 60 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ.2534 ขยายขอบเขตการดำเนินงานของ  บสย. ให้สามารถค้ำประกันการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ซึ่งให้บริการสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้ด้วย รวมถึงขยายขอบเขตการค้ำประกันให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อประเภทอื่นที่มิใช่ความหมายโดยทั่วไปด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บสย. มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเร่งกระจายสินเชื่อไปยังอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศให้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น การสรรหาตัวบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีความเหมาะสมเพื่อมาเป็น “เอ็มดีคนใหม่” ของ บสย. จึงเป็นเรื่องที่ รมว.คลัง คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ จะต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสรรหาผู้นำสถาบันการเงินของรัฐแห่งอื่นๆ

ที่ผ่านมา ผมเห็นผู้บริหารในรัฐบาลที่มองเห็นความสำคัญของ บสย. มากที่สุด และใช้ บสย. เป็น “น้ำมันหล่อลื่น” ให้สินเชื่อไหลลงไปสู่ผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

นายสมคิดเป็นคนที่พิเศษอย่างหนึ่งคือ เป็นคนที่เห็นความสำคัญของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะหน่วยงานเล็กหรือหน่วยงานใหญ่ นายสมคิดมองเห็นคุณค่าของหน่วยงานเหล่านั้นและ “ใช้งานเป็น” รู้จักใช้ประโยชน์จากหน่วยงานเหล่านั้น ผิดกับนักการเมืองทั่วๆไปที่เห็นความสำคัญเฉพาะหน่วยงานที่มีงบประมาณมาก หรือมีรายได้มาก และมีผลประโยชน์มาก

ผมมั่นใจว่า ท่านรัฐมนตรีคลัง  คุณอาคม ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับนายสมคิดมาตั้งแต่นายสมคิดเป็นที่ปรึกษา คสช. ก่อนจะเข้าไปเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. จะให้ความสำคัญกับการสรรหาเอ็มดี บสย.ครั้งนี้ครับ

Advertising

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts