ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 รฟม. ตัดประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้า “ในการจัดหาและติดตั้งรถไฟฟ้า มูลค่าไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท” ที่กำหนดไว้ในการประมูลครั้งที่ 1 ออก จึงชวนให้น่าสงสัยว่า “อินชอน” ผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลี ซึ่งเข้าร่วมประมูลครั้งที่ 2 มีประสบการณ์นี้หรือไม่ ?
1. ประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ในการประมูลครั้งที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท
แต่ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ตัดประสบการณ์ “ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท” ออกไป “จึงชวนให้น่าสงสัยว่า Incheon Transit Corporation (ITC) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีที่ร่วมยื่นประมูลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในการประมูลครั้งที่ 2 มีคุณสมบัติเหล่านี้หรือไม่ ? ถ้าไม่มี และ รฟม. ไม่ตัดประสบการณ์นี้ออก ITC ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้”
ITC จึงมีบทบาทสำคัญในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 เพราะหาก ITC ไม่สามารถจับมือร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ ก็จะเหลือผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียวคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งย่อมไม่ใช่ความต้องการของ รฟม. อย่างแน่นอน
จากการที่ผมได้ค้นหาประสบการณ์ของ ITC ไม่พบว่ามีประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า หรือในกรณีที่มีแต่ผมหาไม่พบก็คงมีน้อยมาก คาดว่ามีมูลค่าไม่ถึง 15,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องแม่นยำ และเพื่อคลายข้อสงสัยของสาธารณชน ผมใคร่ขอวิงวอนให้ รฟม. ตรวจสอบอีกครั้งว่า ICT มีประสบการณ์นี้หรือไม่ ? แล้วตอบออกมาดังๆ ว่า มีหรือไม่มี ?
2. การประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. กำหนดประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้าไว้อย่างไร ?
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ของ รฟม. ในปี 2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการในอีกไม่นาน รฟม. ได้กำหนดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ มีมูลค่าของสัญญารวมกันทั้งหมดแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่าประสบการณ์นี้มีความสำคัญที่ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมี แต่ทำไม รฟม. จึงตัดประสบการณ์นี้ออกไปในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ทั้งๆ ที่ ในประกาศเชิญชวนหาผู้ร่วมลงทุน รฟม. ได้ระบุหน้าที่ของผู้ร่วมลงทุนไว้ชัดเจนว่า “ผู้ร่วมลงทุนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้า”
3. ข้อสงสัย
ในกรณี ITC ไม่มีประสบการณ์นี้ การที่ รฟม. ตัดข้อความ “ประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท” ออก ทำให้เกิดคำถามว่า “การตัดเงื่อนไขสำคัญนั้นออกเพื่ออะไร ? และ/หรือ เพื่อใคร ? หรือไม่ ? และมีเหตุผลสำคัญอย่างไรจึงต้องตัดออก การตัดเงื่อนไขสำคัญดังกล่าวออกไปนั้น ทำให้ใครได้รับประโยชน์ ? หรือเสียประโยชน์อย่างไร ? หรือไม่ ? และสำคัญที่สุดคือ ประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์ ? หรือเสียประโยชน์อย่างไร ? หรือไม่ ?” ควรอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบโดยทั่วกัน
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง