วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024

Related Posts

แหวกม่านชิง “สายสีส้ม”

เป็นปริศนาที่หลายคนค้างคาใจว่า เหตุใดผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลีจึงสามารถจับมือกับผู้รับเหมาไทยเข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ได้ ทั้งๆ ที่ในการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งถูก รฟม. ยกเลิกไป (ต่อมาศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่าเป็นการยกเลิกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ผู้เดินรถไฟฟ้าต่างชาติเข้าไม่ได้เลย หาคำตอบได้จากบทความนี้

ผู้เดินรถไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้ยื่นประมูล เนื่องจากจะต้องให้บริการการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทางจากบางขุนนนท์-มีนบุรี เป็นระยะเวลาถึง 30 ปี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าไว้ดังนี้

1. การประมูลครั้งที่ 1 ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ?

ในการประมูลครั้งที่ 1 รฟม. ให้ความสำคัญต่อผู้เดินรถไฟฟ้าไว้อย่างมาก โดยได้กำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้

1.1 ประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้ง

(1) จะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันหลายสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท

(2) ผลงานดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยประสบการณ์ทางด้านระบบรถไฟฟ้าครบทั้ง 6 ระบบ ได้แก่ ระบบขบวนรถไฟฟ้า (Heavy Rail) ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสาร และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงรักษาภายในและภายนอกศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา

1.2 ประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า

(1) จะต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีระยะเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการ ที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) “ในประเทศไทย” โดยมีหนังสือรับรองจากเจ้าของโครงการเป็นลายลักษณ์อักษร

(2) ในกรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคล ผู้นำกลุ่มจะต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) และซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าของตนเอง

2. การประมูลครั้งที่ 2 คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าถูกปรับแก้เป็นอย่างไร ?

การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้า โดยได้ตัดประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งออกไป คงเหลือเฉพาะประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าเท่านั้น ดังนี้

(1) ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีระยะเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการ ที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail)

(2) ผลงานดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยประสบการณ์ทางด้านระบบรถไฟฟ้าครบทั้ง 6 ระบบ ได้แก่ ระบบขบวนรถไฟฟ้า (Heavy Rail) ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสาร และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงรักษาภายในและภายนอกศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา

(3) ในกรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคล ผู้นำกลุ่มจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา หรือประสบการณ์ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ของตนเอง

3. ข้อสังเกตในการปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลครั้งที่ 2

การปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลครั้งที่ 2 ผมมีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

(1) รฟม. ตัดประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ โดยมีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันหลายสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท ออกไป “จึงชวนให้น่าสงสัยว่า Incheon Transit Corporation (ITC) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีที่ร่วมยื่นประมูลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในการประมูลครั้งที่ 2 มีคุณสมบัติเหล่านี้หรือไม่ ? ถ้าไม่มี และ รฟม. ไม่ตัดประสบการณ์นี้ออก ITC ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้”

(2) รฟม. ตัดประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้า “ในประเทศไทย” ออก ถ้าไม่ตัดออก ITC จากเกาหลีก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้

(3) กรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคล รฟม. เพิ่มโอกาสให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มได้ด้วย ทำให้ ITD ซึ่งเป็นผู้รับเหมาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มยื่นประมูลร่วมกับ ITC ได้ หาก รฟม. ไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่ม ผู้เดินรถไฟฟ้าก็จะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเช่นเดียวกับการประมูลครั้งที่ 1 แต่ผู้เดินรถไฟฟ้าอย่างเช่น ITC จากเกาหลีคงคิดหนักที่จะรับเป็นผู้นำกลุ่ม เนื่องจากเขาจะต้องถือหุ้นในกลุ่มนิติบุคคลมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%

อันที่จริง ผู้นำกลุ่มควรเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1 เนื่องจากเขาจะต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้ารวมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสายเป็นเวลาถึง 30 ปี ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ทำการก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเพียง 6 ปี

อนึ่ง การประมูลครั้งที่ 1 รฟม. ให้ความสำคัญต่อผู้เดินรถไฟฟ้ามาก โดยกำหนดให้เฉพาะผู้เดินรถไฟฟ้าเท่านั้นเป็นผู้นำกลุ่ม อีกทั้ง ได้กำหนดคะแนนด้านเทคนิคของผู้เดินรถไฟฟ้าสูงกว่าของผู้รับเหมา ต่างกับการประมูลครั้งที่ 2 ที่ รฟม. ได้กำหนดคะแนนด้านเทคนิคของผู้รับเหมาสูงกว่าของผู้เดินรถไฟฟ้า

4. สรุป

การที่ ITC สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ ทำให้การประมูลครั้งที่ 2 มีผู้ยื่นประมูล 2 ราย ได้แก่ (1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ (2) ITD+ITC

หาก ITD+ITC ไม่สามารถยื่นประมูลได้ ก็จะเหลือผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียวเท่านั้นคือ BEM+CK เนื่องจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่เคยยื่นประมูลร่วมกันในการประมูลครั้งที่ 1 ไม่สามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้ เพราะ STEC ซึ่งเคยมีคุณสมบัติครบในการประมูลครั้งที่ 1 แต่กลับมีคุณสมบัติไม่ครบในการประมูลครั้งที่ 2 เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้นได้

ถ้าเป็นเช่นนี้ รฟม. จะทำอย่างไร ?

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts