วันจันทร์, พฤษภาคม 20, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินผู้เคราะห์ร้าย ZipUp+ 744 คน

Related Posts

ผู้เคราะห์ร้าย ZipUp+ 744 คน

เงินดิจิทัล “ซิปเม็กซ์” เดินสบาย
ก.ล.ต. แกล้งเมิน “หรือไม่รู้?”
ผู้เคราะห์ร้าย ZipUp+ 744 คน
ก.ล.ต. เล่นใหญ่ แต่ไหน…คดีความ

“….การดำเนินธุรกิจของ Zipmex ในประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการโปรแกรม ZipUp+ หรือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญว่า หากลูกค้านำเหรียญมาฝากไว้ก็จะมีดอกผลให้ “ซึ่งไม่มีการมาหารือกับ ก.ล.ต.ก่อนเลย โดย ก.ล.ต.ได้รับแจ้งตอนมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ค.65 น่าแปลกใจ… ท่านเลขา “บอกไม่หารือกันมาก่อน” ทั้งที่เป็นการกระทำที่กฎหมายไม่รองรับ และเป็นอำนาจของ ก.ล.ต. ในฐานะผู้คุมกฎ ซึ่งต้องจมูกไวกว่านักลงทุนทั่วไป…”

เลขา ก.ล.ต.แกล้งมึนได้ไง ปล่อย ZipUp+ มา 2 ปี อ้าง “ไม่เคยมาหารือ ZipUp+” เด็กดูก็รู้… โปรแกรมการลงทุนนอกกฎหมายไทย ก.ล.ต. ออกโรงตำหนิใหญ่ แต่ยังไม่แจกข้อกล่าวหาใดๆ ระวังชาวบ้านด่า “ตาชั่งเอียง”

…. คำตอบย้ำชัดในการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ เลขาฯ ก.ล.ต. ในทำนอง “ ไม่เคยหารือกันมาก่อน” ว่า Zipmex มีโปรแกรมแนะนำการลงทุน ZipUp+ โดยโฆษณาว่า สามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 6-12% ต่อปี ขึ้นอยู่กับชนิดของเหรียญที่นักลงทุนรายย่อย นำมาฝาก-ล็อคไว้ในระบบ ZipUp+

แต่ความไม่รู้ของท่านเลขาฯ กลต. อาจจะนำมาสู่ความเสียหายมหาศาล…จนเป็นเหตุให้นักลงทุนรายย่อย เสียหายจากเครือข่ายของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล “ซิปเม็กซ์” มูลค่าราว 661 ล้านบาท มีจำนวนผู้เสียหายมากถึง 744 คน

รายงานข่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ใจความว่า ปัจจุบัน Zipmex ในประเทศไทยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.63 และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ไปเมื่อวันที่ 4 ต.ค.64

ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าทื่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ แล้วมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย”

การดำเนินธุรกิจของ Zipmex ในประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการโปรแกรม ZipUp+ หรือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญว่า หากลูกค้านำเหรียญมาฝากไว้ก็จะมีดอกผลให้ “ซึ่งไม่มีการมาหารือกับ ก.ล.ต.ก่อนเลย โดย ก.ล.ต.ได้รับแจ้งตอนมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ค.65”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ เลขาฯ ก.ล.ต.

น่าแปลกใจ… ท่านเลขา “บอกไม่หารือกันมาก่อน” ทั้งที่เป็นการกระทำที่กฎหมายไม่รองรับ และเป็นอำนาจของ กลต. ในฐานะผู้คุมกฎ ซึ่งต้องจมูกไวกว่านักลงทุนทั่วไป คำตอบท่านเลขาฯ สวนทางกับการรับรู้ของนักลงทุนทั่วไปในวงการสินทรัพย์ดิจิตอล ซึ่งได้รับข่าวสารกันอย่างแพร่หลาย ว่า Zipmex มีโปรแกรมสร้างผลตอบแทน ZipUp+ แบบไม่ต้องเทรด เพียงแค่ ซื้อเหรียญแล้ว ล็อคฝากเหรียญไว้เฉยๆ ก็ได้ผลตอบแทน

ประโยคเด็ดที่ว่า “ไม่มีการหารือมาก่อน” คนเขาสงสัยว่า หมายความว่าอย่างไรกันแน่… เพิ่งได้รับแจ้งเมื่อเกิดเหตุแล้วในวันที่ 20 ก.ค.65 …. ทั้งที่โปรแกรม ZipUp+ ให้บริการมาบริหารมานานนับปี สื่อสาธารณะรายงาน รีวิวจำนวนไม่น้อย ลากยาวมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว

ชัดเจนว่า ผู้คุมกฎต้องทราบดี ใบอนุญาตที่ได้รับ ย่อมไม่สามารถนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปหาผลประโยชน์ได้แต่ผู้คุมกฎนิ่งมามานาน 2 ปี ด้วยไม่เคยหารือมาก่อน จนนักลงทุน 744 คน รับผลกระทบดังกล่าว เริ่มเดือดร้อนไปถึงครอบครัวผู้เสียหายด้วย

น่าสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไร ที่ ท่านเลขา ตอบได้แค่ไม่เคยมาหารือ ปม ZipUp+ ทั้งที่ช่วงที่ผ่านมา ในฐานะผู้คุมกฎ ต้องพบปะหารือกันกับบรรดาศูนย์ซื้อขายฯ อยู่เนืองๆ

ตึก กลต. สูงใหญ่ระฟ้า จะไม่มีผู้สังเกตการณ์ เล็งเห็น การทำโฆษณาลักษณะเชิญชวนให้นักลงทุน ล็อคสินทรัพย์เพื่อรับโบนัส การกระทำการนอกเหนือเกม ที่ กฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 อนุญาตให้กระทำได้หรือ?

เป็นเพราะทีมงานเฝ้าระวังติดตาม ไม่เพียงพอ หรือ ตั้งหน้าตั้งตา โฟกัสงาน ตามใบสั่ง เพื่อจับผิดบางบริษัทเท่านั้นหรือ..?

การอ้างว่าไม่เคยมีการปรึกษาหารือนั้นง่ายมาก เพียงแค่พ่นผ่านลมปาก เด็กๆไร้เดียงสา ไม่มีอำนาจใช้กฎหมาย ก็ยังพ่นออกมาได้ แต่ในฐานะผู้คุมกฎที่มีผลงานเข้มงวดกับสินทรัพย์ดิจิตอลมาโดยตลอด คำพูดอย่างนี้เหมือนแก้ต่างให้กับจำเลยไปซะอย่างงั้น

อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ตักเตือนได้ทันที ถึงแม้ท่านเลขาฯ คนปัจจุบัน จะเข้ามาไม่ทัน ยุคเริ่มต้นร่างกฎหมายควบคุมฉบับนี้ แต่ก็ถือว่าท่านต้องเป็นบุคคลระดับที่มีความสามารถ – โปรไฟล์ไม่ธรรมดา ถึงได้มารับหน้าที่สานงานต่อในตำแหน่งระดับสูง

จึงฟังไม่ขึ้น ไม่มีน้ำหนัก และไม่น่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะตอบสื่อในทำนองดังกล่าว

หรือเกรงว่าจะงานเข้าหากยอมรับว่า ปล่อยเกียร์ว่าง ประเดี๋ยวจะกลายเป็น “ซวยซ้ำซ้อน” เข้าข่ายปล่อยปละละเลย ยิ่งจะมีโทษหนัก เสียโปรไฟล์ ภาพลักษณ์อันสูงส่ง

หากจะกล่าวว่า การล็อคเหรียญในกระเป๋าดิจิตอล การลงทุนลักษณะนี้ ความเป็นจริง ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการความเสี่ยง และยินดีจะรับดอกเบี้ยจากการฝากล็อคเหรียญ แต่ด้วยกฎหมายในประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตอล ภายใต้การควบคุมตามกฎหมาย โดย ก.ล.ต. มองว่ายังเป็นความเสี่ยงสำหรับคนไทย จึงไม่อนุญาติ

ซึ่งก็ถือว่า เข้าใจได้…. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ห่วงใยประชาชน เพียงแต่การลงทุนแบบนี้ มันลอดช่อง ลอดสายตาเหยี่ยวอย่าง ก.ล.ต. อยู่เจ้าเดียวได้อย่างไร เพราะถ้าจะอนุญาติก็ควรเปิดกว้าง ออกใบอนุญาติให้การแข่งขันในตลาดนี้อย่างเท่าเทียมทุกฝ่าย

สิ่งสำคัญคือ เมื่อเปิดกว้างอย่างเท่าเทียมแล้ว ผลดีที่ตามมาคือ กลต. สามารถตรวจสอบได้ ผ่านสมาร์ทคอนแทค นักลงทุนทั่วไปก็จะได้รับข้อมูลความเสี่ยง เกิดการวิเคราะห์ วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ปรากฎการณ์ “โปรแกรม ZipUp+” ล็อคเหรียญ แล้วจ่ายโบนัสเป็นการตอบแทนล่อใจ เคยตรวจสอบสมาร์ทคอนแทคได้จริงหรือไม่ ว่า ผลตอบแทนเป็นเงินที่ได้มาจากธุรกิจใด ในประเทศใดบ้าง แต่พอเรื่องแดงขึ้นมา กลายเป็นว่า อุต๊ะ!! สาเหตุแท้จริงมาจากเงินที่นำไปลงทุนใน Babel Finance จำนวน $45 ล้านและ Celsius $5 ล้าน ทั้งที่มีรายงานว่าการลงทุนของ Babel Finance และ Celsius มีปัญหาขาดสภาพคล่องมานานนม แต่ทาง Zipmex Thailand ก็ไม่ได้ยุติการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ก่อนที่จะเป็นเรื่องเป็นดราม่าขึ้นมาด้วยซ้ำ

การเล่นแร่แปรธาตุ ผ่านโฆษณา หลีกเลี่ยงคำว่า ดอกเบี้ย และปันผล เพราะไม่ใช่การฝากธนาคาร และก็ไม่ใช่การลงทุนหุ้น อีกทั้งมีคำกล่าวอ้างของที่ผู้คุมกฎหมาย ว่า ไม่มีการหารือ

บนความเจ็บปวดของนักลงทุนไทยที่ไม่สามารถถอนเงินได้ในเวลานี้ ไม่ได้ถูกเยียวยาจิตใจ เพราะไม่มีใครตอบได้ว่า เงินทั้งก้อนที่ลงทุนไปโปรแกรมดังกล่าวจะได้คืนในระยะเวลาใดกันแน่ ก.ล.ต ได้เพียงเป็นตัวกลางรับเรื่องร้องทุกข์ แต่ไม่มีมาตรการลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการออกผลิตภัณฑ์และโฆษณาดังกล่าว ที่ชัดเจน

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ศาลสิงคโปร์ได้พิจารณาอนุญาตคําขอพักชําระหนี้ตามที่ซิปเม็กซ์ร้องขอ โดยครอบคลุมระยะเวลาจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ซึ่งส่งผลให้ทั้ง 5 บริษัทของซิปเม็กซ์ได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้เจ้าหนี้รายใดก็ตามที่อยู่ภายใต้เขตอํานาจของศาลสิงคโปร์สามารถยื่นฟ้องหรือการดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องทางกฎหมายได้ ในระยะเวลาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว

โดยกำหนดให้ซิปเม็กซ์จะต้องอธิบายถึงการดำเนินการในสิงคโปร์ว่ามีความสําคัญต่อเจ้าหนี้และลูกค้า แจ้งมาตรการดำเนินการต่างๆ ผ่านอีเมล และช่องทางการสื่อสารไปยังเจ้าหนี้เป็นระยะๆ

ด้านรายงานข่าวจาก Zipmex Thailand เมื่อ 19 ส.ค. 65 แจ้งว่า ได้เปิดการเข้าถึง Z Wallet ตามที่เราได้ให้คำสัญญาไว้ และสารโยก โอนระหว่าง Z Wallet และ Trade Wallet ในวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 โดยเริ่มจากเหรียญ ZMT เป็นลำดับแรก ส่วนผู้เสียหาย ก็คือเจ้าหนี้ ที่ล็อคเหรียญชนิดอื่นๆเอาไว้ ก็ยังต้องรออย่างอึดอัดใจต่อไป

การกดดันจาก ก.ล.ต. ไม่เป็นผล เพราะในความเป็นจริงแล้ว ก.ล.ต.ได้เคยเรียก Zipmex Thailand ชี้แจงมาโดยตลอด แต่กลับได้เพียงข้อมูลตัวเลข กลมๆ และไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายใดๆกับ Zipmex Thailand ได้ แม้แต่เรื่องการบังคับใช้กฎ Trading rules ใช่ช่วงแรกๆ

สปอตไลท์ยิงตรงมายังท่านเลขาฯ ก.ล.ต. เนื่องจากการดำเนินการทวงถามความคืบหน้า ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งที่อำนาจใน พรก. น่าจะมีวิธีการดำเนินการกับ ซิปแม็ก ตามอำนาจเต็ม ทั้งเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ และสินค้าบริการนอกกฎหมายรองรับ

ส่วนเรื่องอื่นๆที่เกิดขึ้นนั้น อยากจะถาม ก.ล.ต. ว่าทำไมไม่กล่าวโทษตามอำนาจหน้าที่ที่มี แบบต่างกรรมต่างวาระ ส่วนคดีที่เกี่ยวเนื่อง ก.ล.ต .น่าจะเป็นเจ้าภาพ ยกระดับเป็นคดีพิเศษ จะได้ไม่เสียเวลาตั้งเรื่องหารือกับ DSI ส่วนเอกสารที่ยังไม่ชัดเจน รวมถึงสมาร์ทคอนแทคที่ยังไม่เคยเห็นกับตา หากเกิดความเสียหาย ก็น่าจะส่งไม้ต่อให้ตำรวจไซเบอร์ จะได้ไม่เสียเวลานั่งประชุมรวม 3 ฝ่าย

การปฏิบัติหน้าที่ผู้คุมกฎด้วยความเสมอภาคต่อทุกบริษัท ผิดว่าไปตามผิด… ประชาชนทั่วไปจะได้รู้สึกถึงความศักสิทธิ์ของผู้คุมกฎ

ประชาชนทั่วไปจะได้รู้สึกว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำงานคุ้มค่าแรง แว่วๆว่า รายได้ต่อเดือน ทั้งเงินเดือนบวกเบี้ยประชุม เฉียดล้านบาทต่อเดือน และไม่โดนตราหน้าว่า “ตาชั่งเอียง”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts