วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวองค์กร(ไร้) อิสระ กสทช.

Related Posts

องค์กร(ไร้) อิสระ กสทช.

กับมหกรรมปาหี่ควานหาอำนาจที่ไม่อยากมี ? กำลังเป็นประเด็นสุดร้อน เป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์

“….แล้ว กสทช.จะตั้งอนุกรรมการศึกษาด้านต่างๆ ขึ้นมาทำซากอะไรหากดำเนินการศึกษาวิเคราะห์และสรุปรายงานออกมาแล้วกลับไม่ยอมรับฟัง อีกทั้ง กสทช.ยังมีอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ กสทช.ได้อยู่แล้ว แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ กสทช.ชุดนี้กลับยังคงดั้นด้นจะยื่นเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในเรื่องของอำนาจของตนเองว่ามีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมประวัติศาสตร์นี้อยู่อีกหรือไม่? หรือว่าที่ทำไปทั้งหมดก่อนหน้านั้น มันแค่ฉากละครปาหี่เพื่อให้จบพิธีกรรมไปเท่านั้น แต่ได้มีการ”ตั้งธง”เอาไว้แล้วล่วงหน้า…”

กับเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ออกมาเผยแพร่ 5 Facts กรณีดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัททรู คอปอเรขั่นจำกัด(มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์ของสังคมอย่างกว้างขวางเวลานี้

โดย กสทช.ได้จัดทำ Infographics ประกอบคำชี้แจงดีลควบรวมประวัติศาสตร์ครั้งนี้อย่างละเอียด ไล่ดะมาตั้งแต่ดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้แตกต่างจากดีลควบรวม 9 ดีลในอดีตอย่างไร ประสบการณ์การควบรวมกิจการในต่างประเทศที่ ระบุชัดว่ามีเพียง 2 ประเทศในโลกที่ยอมให้ควบรวมกิจการจาก 3 รายเหลือ 2 รายเท่านั้น กรอบระยะเวลาในการพิจารณาดีลควบรวมทั้งในต่างประเทศ และกรณีดีลประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

และโดยเฉพาะการนำเสนอความเห็นของอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทั้ง 4 ชุดที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้น รวมทั้งรายงานการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาเอาไว้อย่างละเอียด เรียกได้ว่าเป็นการตีแผ่เนื้อหาของดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้หมดเปลือก แทบจะหาช่องทางที่กสทช.จะ “ตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี” มุบมิบ ๆ อนุมัติดีลควบรวมออกไป โดยไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่ผู้คนสังคมได้เลย

แต่ที่สร้างความแปลกประหลาดใจหนักเข้าไปอีกที่จู่ ๆ บอร์ดกสทช.เมื่อ 23 ส.ค.ที่ผ่านมาที่มีมติ 3 ต่อ 2 สั่งการให้สำนักงานกสทช.ทำหนังสือถึงนายกฯเพื่อขอให้ใช้อำนาจสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาให้ความเห็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำนักงาน กสทช.ขอหารือไปก่อนหน้าในประเด็นที่ว่า กสทช.มีอำนาจในการอนุมัติ-ไม่อนุมัติการควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค หรือไม่?

ทั้งที่ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช.เคยทำหนังสือหารือปัญหาข้อกฎหมายจำนวน 7 ข้อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกามาหนแล้ว เมื่อกลางเดือน มิ.ย.65 ที่ผ่านมา  และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีหนังสือตอบกลับมายังประธาน กสทช.แล้วเมื่อ 27 ก.ค.65 ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจรับข้อหารือของสำนักงาน กสทช.กรณีขอความเห็นประเด็นข้อกฎหมายกรณีการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคเอาไว้พิจารณาได้ แต่กระนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของการยกเลิกและแก้ไขประกาศกสทช.ว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2562 อยู่แล้ว

 ส่วนกรณีการนำประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช.ในการพิจารณาการรวมธุรกิจที่เป็นประเด็นขอหารือนั้น เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีการฟ้องร้องอยู่ในศาลปกครอง คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้  เว้นแต่เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมีมติหรือมีคำสั่งเป็นการภายในเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติเท่านั้น

คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้น แทนที่จะทำให้ กสทช.ตื่นจากภวังค์และเข้าใจในบทบาทอำนาจหน้าที่ของตนเองเสียที โดยเฉพาะในเรื่องของการยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ กสทช.นั้น ที่ผ่านมา กสทช.เองมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขประกาศ กสทช.กันจนปรุมาจนพรุน รวมทั้งมีการออกประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่ถูกวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่า เป็นการออกประกาศลดทอนอำนาจของตนเองลงด้วยซ้ำ

อีกทั้งในรายงานความจริง 5 Facts ที่กสทช.กำลังตีปี๊บให้ผู้คนในสังคมได้เห็นว่าองค์กรมีความโปร่งใสในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรนั้น ใน 1 ในนั้นก็คือรายงานผลศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ที่กอปรด้วยนักกฎหมายชั้นบรมครูระดับประเทศนั่งอยู่เต็มลำเรือก็ชี้ชัดว่า “กสทช.มีอำนาจในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติ” ดีลควบรวมประวัติศาสตร์นี้ อีกทั้ง กสทช.ยังมีอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ กสทช.ได้อยู่แล้ว

แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ กสทช.ชุดนี้กลับยังคงดั้นด้นจะยื่นเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในเรื่องของอำนาจของตนเองว่ามีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมประวัติศาสตร์นี้อยู่อีกหรือไม่ โดยอาศัยแค่ประเด็น “สุดติ่ง”ท้ายหนังสือที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า “เว้นแต่คณะรัฐมนตรีหรือนายกฯมีคำสั่งเป็นการภายใน” เท่านั้น เป็นช่องทางให้กสทช.บางคนในบอร์ด กสทช.ผลักดันให้บอร์ด กสทช.มีมติให้สำนักงานกสทช.ส่งเรื่องไปยังนายกฯเพื่อขอให้ใช้อำนาจสั่งการไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้พิจารณาตีความอำนาจหน้าที่ของ กสทช.อีกครั้ง

แล้ว กสทช.จะตั้งอนุกรรมการศึกษาด้านต่างๆ ขึ้นมาทำซากอะไรหากดำเนินการศึกษาวิเคราะห์และสรุปรายงานออกมาแล้วกลับไม่ยอมรับฟัง ยังคงดั้นด้นจะไปพึ่งนักกฎหมายนอกที่ไม่มีส่วนนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับองค์กรอิสระ กสทช.แม้แต่น้อย หรือว่าที่ทำไปทั้งหมดก่อนหน้านั้น มันแค่ฉากละครปาหี่เพื่อให้จบพิธีกรรมไปเท่านั้น แต่ได้มีการ”ตั้งธง”เอาไว้แล้วล่วงหน้า!

ที่สำคัญ หากทุกฝ่ายจะย้อนกลับไปพิจารณาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามระเบียบข้อ3 ของคณะกรรมการกฤษฎีกาปี 22 นั้น กำหนดให้มีหน้าที่ให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานรัฐ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น หรือตามคำสั่งการของนายกฯและมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)มอบหมายเท่านั้น

จึงไม่เข้าใจเหตุผลว่าเหตุใด กสทช.ถึงยังดั้นด้นจะให้นายกฯ (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ) สั่งการให้กฤษฎีกาพิจารณาในเรื่องนี้ ทั้งที่ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ไม่ใช่หน่วยงานรัฐตามระเบียบที่กำหนด แต่เป็นองค์กรอิสระที่จะตั้งขึ้นโดย พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2562 และตามบทบัญญัติมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560  จึงไม่มีเหตุผลที่ กสทช.จะขอให้นายกฯที่เป็นฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทำงานได้ 

และต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความออกมาอย่างไร ก็หาใช่จะผูกพันต่อ กสทช.เพราะอย่างที่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อนุกรรมการด้านกฎหมาย กสทช ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้า แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความว่า กสทช มีอำนาจในการพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่คำวินิจฉัยของกฤษฎีกาจะไม่มีความผูกพันต่อ กสทช แต่อย่างใด เพราะ กสทช ไม่อยู่ในฐานะขององค์กรรัฐ แต่อยู่ในฐานะขององค์กรอิสระ

ทั้งหลายทั้งปวงจึงไม่เข้าใจว่า กสทช.กำลังเล่นเอาเถิดกับการควานหา”ความไร้อำนาจ”ของตนเองไปเพื่ออะไร หรือว่า เป็นไปเพื่อที่จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ขาดออกมาว่า “กสทช.ไม่มีอำนาจ” พิจารณาอนุมัติ-ไม่อนุมัติดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ ทำได้แค่ ”รับทราบ-รับเบอร์แสตมป์” และกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบตามประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่ “มือที่มองไม่เห็น- Invisible Hand” บางคนเขียนบทกำกับเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

หาก กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระแปรสภาพองค์กรไปเป็นแค่องค์กรฐที่ ”ไร้อิสระ” ทำได้แค่เป็นสภาตรายาง ”รับเบอร์แสตมป์” แล้ว พวกท่านยังคิดว่าหน่วยงานนี้จะยังหลงเหลือเครดิตอะไรไว้กำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมได้อีกหรือ???

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts