วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าว"เจ้าสัวคีรี" ทิ้งบอมบ์ รฟม.-สายสีส้ม!

Related Posts

“เจ้าสัวคีรี” ทิ้งบอมบ์ รฟม.-สายสีส้ม!

เปิดซองราคากลุ่ม BSR ทิ้งห่าง BEM ขาดลอยร่วม 7 หมื่นล้าน เผยส่วนต่าง ละเลงการเมือง สร้างรถไฟฟ้าได้ทั้งสายบทมรุปขบวนการฮั้วโจ๋งครึ่มขนาดนี้จะลงเอยอย่างไร?

บทสรุปรถไฟฟ้า สายสีส้ม…..กับ “ค่าโง่” 7 หมื่นล้านที่รัฐ – ประชาชน (ต้อง)จ่ายแพงเว่อร์ กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town กระหึ่มเมือง!

“…เมื่อเทียบกับข้อเสนอราคาของกลุ่ม BSR ที่ ”เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” แห่ง BTS Group ที่เคยยื่นข้อเสนอเอาไว้ในการประมูลครั้งแรก แต่ถูก รฟม.ยกเลิกการประมูลไป โดยที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไปก่อนหน้าว่า เป็นการออกประกาศยกเลิกประกวดราคาโดยมิชอบ และกำลังลุ้นระทึกอยู่ว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะฟันซ้ำกราวรูดผู้เกี่ยวข้องอีกระลอกหรือไม่ ในวันที่ 27 ก.ย.ศกนี้   นัยว่าราคาประมูลที่ได้ดังกล่าว สูงกว่าที่กลุ่ม BTS-BSR เสนอเอาไว้ร่วม 70,000 ล้านเลยทีเดียว โดย “เจ้าสัวคีรี” ได้ส่งผู้แทนไปขอรับซองข้อเสนอคืนจาก รฟม.ไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดซองราคาให้บรรดาสื่อมวลชนได้เห็นกันอย่างพร้อมเพรียง..”

กับ “วาระนายกฯ แห่งชาติ” ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงของผู้คนในสังคมในเวลานี้ว่านั่งอยู่ในตำแหน่งจนรากงอกครบ 8 ปีแล้วตามบทบัญญัติมาตรา 158(4) ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ที่สมาชิกสภาผู้แทนร้องขอให้ตรวจสอบหรือไม่?

อุตส่าห์ไป “ปลุกผี” ยืมมือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้ “ขี่ม้าขาว” มาช่วยตีความ และทำจดหมายยืนยันไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้  ส่วนที่โลกโซเชียลพากันแชร์ข้อมูลการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย.61 ที่เคยมีการหารือประเด็นการนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อเนื่องกระหึ่มเมืองนั้น เป็นการจดบันทึกถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วน และเข้าใจผิดของฝ่ายเลขา ทาง กรธ.ยังไม่เคยมีมติหรือให้การรับรองใดๆ

แต่ดันมา ”โป๊ะแตก!” เพราะมติ กรธ.ครั้งนั้น ได้รับการรับรองแล้วโดยไม่มีการแก้ไขถ้อยความใดๆ ตั้งแต่ปีมะโว้ ในการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.61 ก่อนสิ้นสุดการทำหน้าที่ กรธ. ซึ่งก็แปลว่าการนับอายุการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ลุงตู่นั้นต้องนับต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 57  ไม่ต้องไปตีความออกน้ำออกทะเลไปไหนต่อไหนให้เมื่อยตุ้ม

*จาก 8 ปีรันเวย์”ลุงตู่…ถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เห็นมหกรรมแห่งความย้อนแย้งเพื่อหารันเวย์ให้ “ลุงตู่” อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ให้รากงอกกันไปข้างแล้วเลยพาลให้นึกย้อนไปถึง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้านที่ ”การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” โม่แป้งมาตั้งแต่ปี 62 และหวังจะอุ้มสมกลุ่มทุนการเมือง “กากี่นั๊ง” เข้ามา “ชุบมือเปิบ” โครงการนี้ ก็มีเส้นทางที่ไม่ต่างไปจาก ”นายกแห่งชาติ” ยังไงยังงั้น !

โดยล่าสุด แม้ฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะตีปี๊บผลงาน “ชิ้นโบแดง” ในการประกวดราคาโครงการนี้ที่ได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้วนั่นคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ที่ร่วมกับบริษัทแม่กลุ่ม ช.การช่าง CK  โดยเสนอผลประโยชน์สุทธิ (ผลตอบแทนตลอดอายุสัมปทานหักลบด้วยวงเงินชดเชยค่าก่อสร้างตามมูลค่าปัจจุบัน NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท เฉือนคู่แข่ง กลุ่ม ITD Group  ที่เสนอ 102,635.55 ล้านบาทไปแบบขาดลอย

แต่ผลการประมูลที่ออกมาดังกล่าวก็หาได้ยังประโยชน์ต่อรัฐและ รฟม. อย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ไปมหาศาลมูลค่านับแสนล้านบาท 

เพราะเมื่อเทียบกับข้อเสนอราคาของกลุ่ม BSR ที่ ”เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” แห่ง BTS Group ที่เคยยื่นข้อเสนอเอาไว้ในการประมูลครั้งแรก แต่ถูก รฟม.ยกเลิกการประมูลไป โดยที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไปก่อนหน้าว่า เป็นการออกประกาศยกเลิกประกวดราคาโดยมิชอบ และกำลังลุ้นระทึกอยู่ว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะฟันซ้ำกราวรูดผู้เกี่ยวข้องอีกระลอกหรือไม่ ในวันที่ 27 ก.ย.ศกนี้  

นัยว่าราคาประมูลที่ได้ดังกล่าว สูงกว่าที่กลุ่ม BTS-BSR เสนอเอาไว้ร่วม 70,000 ล้านเลยทีเดียว!!!

เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์

“เจ้าสัวคีรี” ทิ้งบอมบ์ รฟม.

ล่าสุด “เจ้าสัวคีรี” ได้ส่งผู้แทนไปขอรับซองข้อเสนอคืนจาก รฟม.ไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดซองราคาให้บรรดาสื่อมวลชนได้เห็นกันอย่างพร้อมเพรียง โดยกลุ่ม BSR นั้น เสนอผลตอบแทนแก่รัฐตลอดสัมปทานคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน NPV  70,144 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนงานโยธา สายสีส้มตะวันตก 79,280 ล้านบาท หรือเท่ากับเสนอผลประโยชน์สุทธิ  -9,676 ล้านบาท เทียบกับข้อเสนอของ BEM ที่เป็นผู้ชนะประมูลอยู่ถึง 68,000 ล้านบาท 

ซึ่งนั่นหมายความว่า หาก รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ยกเลิกประมูลในครั้งก่อน และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลใหม่ จนทำให้ผู้รับเหมาจากทั่วโลกรวมทั้งกลุ่ม BSR ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ไม่เพียงแต่รัฐบาลหรือ รฟม.จะได้ผลประโยชน์ตลอดอายุสัมปทานเพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาทแล้ว

 “เม็ดเงินส่วนต่างผลประโยชน์สุทธิตามมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของกลุ่ม BSR ที่ต่ำกว่าข้อเสนอของ BEM  มากกว่า 68,000 ล้านบาทนั้น ส่วนต่างราคาดังกล่าวสามารถก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้ตลอดทั้งสายไม่ว่าจะสายสีชมพู สีเหลืองหรือสีเทา ที่มีค่าก่อสร้างงานโยธาในระดับ 40,000-45,000 ล้านบาทเท่านั้น หรือแม้แต่นำไปชดเชยก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 สายทางที่มีมูลค่าลงทุนราว 53,000 ล้านบาท”

*รฟม.กับความย้อนแย้งในตัวเอง

ก่อนหน้านี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรรมผู้เชี่ยวชาญโครงการขนาดใหญ่และรองหัวหน้าพรรค ปชป.ออกมาสัพยอกกรณีที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกว่า หาก รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกยึดถือหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการพีพีพีอย่างเข้มงวดตามที่กล่าวอ้างจริง กลุ่ม ITD ก็ไม่สมควรจะได้รับการพิจารณาให้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นของการประมูลตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยเข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการพีพีพี เพราะกรรมการบริหารบริษัทถูกดำเนินคดีอาญาถึงขั้นต้องโทษจำคุกจากกรณี ”เสือดำ” ที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการเข้าร่วมลงทุนหรือทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ

ประเด็นในเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามดังกล่าว ผู้แทน สคร.และสำนักงบประมาณที่อยู่ในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทักท้วงในที่ประชุมแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทานเสียงข้างมากที่ยังคงดั้นเมฆต้องเร่งปิดดีลโครงการนี้ ด้วยอ้างว่า หากมีความผิดพลาดก็เป็นความรับผิดชอบของบริษัทเองในการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติของตนเอง หากในภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองเอกสารดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธการทำสัญญากับเอกชนรายนั้นๆ ได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับเปลี่ยนแก้ไขเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าประมูลที่ล้วนมีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะในขณะที่ รฟม.ดำเนินการในทุกวิถีทางในอันที่จะตีกันไม่ให้กลุ่ม BSR เข้าร่วมประมูลได้ แต่กลับมีการแก้ไขประกวดราคาที่เอื้อให้กับกลุ่มทุนอีกรายคือ ITD ให้สามารถเข้าร่วมประกวดราคาเป็นคู่เทียบกับกลุ่ม ช.การช่าง CK-BEM ได้อย่างผิดปกติ

เห็นได้ชัดจากกรณีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่เดิมในการประมูลครั้งที่ 1 กำหนดให้ต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า มูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท จนทำให้ไม่มีผู้ให้บริการเดินรถต่างประเทศรายใดผ่านเกณฑ์เข้าร่วมประมูลได้

แต่ในการประมูลครั้งที่2 รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้ตัดคุณสมบัติดังกล่าวออกไป ทำให้ ITD สามารถดึงผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี คือกลุ่ม Inchon Transit Corp.เข้ามาร่วมประมูลได้ ท่ามกลางข้อกังขาจากผู้คนในสังคม เหตุใด รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกถึงยอมตัดเงื่อนไขสำคัญในเรื่องคุณสมบัติของผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าออกไป ทั้งที่ต้องดูแลการเดินรถไฟฟ้าถึง 30 ปี 

แล้วเหตุใดกับข้อทักท้วงในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคและผลงานที่เป็น Local content ของผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลอย่างประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ที่ถูกวิพากษ์อย่างหนักว่าเป็นเงื่อนไขปิดกั้นการแข่งขัน ตีกันรับเหมาจากทั่วโลกไม่สามารถจะเข้าประมูลได้ เพราะทั่วทั้งโลกมีกลุ่มรับเหมาก่อสร้างยักษ์ของไทยเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์นี้  แต่รฟม.ก็ไม่ยี่หร่ะต่อข้อทักท้วงดังกล่าว

ทั้งที่หาก “ปลดล็อค” เปิดกว้างให้ผู้รับเหมาสามารถนำผลงานในต่างประเทศ หรือผลงานในประเทศที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่เปิดให้บริการมาเสนอได้ อย่างเช่นโครงการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หรือ สายสีม่วงใต้ของ รฟม.เอง จะทำให้มีผู้รับเหมาอีก 3-4 ราย สามารถเข้าร่วมประมูลได้ รวมทั้งกลุ่ม BSR เอง

ทั้งหมดจึงดูเป็นมหกรรมแห่งความย้อนแย้ง ที่ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า จะปล่อยให้ขบวนการจัดฮั้วราคาลอยนวลกันไปเช่นนี้แน่หรือ เพราะหากโครงการที่มีการจัดฮั้วประมูลกันอย่าง ”โจ๋งครึ่ม” เช่นนี้ถูกปล่อยผ่านโดยที่หน่วยงานตรวจสอบทั้งหลายได้แต่นั่งทำตาปริบๆ

ก็เห็นทีการประมูลโครงการรัฐนับจากนี้จะไม่สามารถอ้างอิงหลักเกณฑ์ใดชี้ขาดได้อีกแล้ว นอกจาก “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” เท่านั้น !!!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts