วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกการเมือง“พี่ใหญ่” จัดให้แก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน”

Related Posts

“พี่ใหญ่” จัดให้แก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน”

เปิดทางทุนการเมืองล้วงเงินลงทุนรัฐ-เอกชน “จับเสือมือเปล่า” พ่วงปิดดีลควบรวมประวัติศาสตร์ “ทรู-ดีแทค” แลกท่อน้ำเลี้ยง

“พี่ใหญ่” จัดให้แก้ไขสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ปรับร่นเวลาจ่ายเงินชดเชยก่อสร้างโครงการ เปิดทางเอกชนจับเสือมือเปล่า หลัง “บิ๊กตู่” ยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าเคาะโต๊ะมาร่วมปี แถมพ่วงเร่ง กสทช.ปิดดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคแลกท่อน้ำเลี้ยงพรรคการเมืองใหญ่

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ได้ลงนามกับบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัดในเครือ ซีพี.ไปตั้งแต่ 24 ต.ค. 62 หรือเกือบ 3 ปีมาแล้ว แต่จนถึงเวลานี้โครงการยังไม่มีความคืบหน้า การรถไฟฯ ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทเอกชน และออกหนังสือ NTP ให้เอกชนเริ่มดำเนินโครงการได้  โดยคาดว่าจะต้องเลื่อนการก่อสร้างออกไปเป็นต้นปีหน้า 

ขณะที่ความชัดเจนที่เห็น กลับเป็นเรืองที่การรถไฟฯ และ สกพอ.ได้ออกมาขานรับการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชน หลังจากก่อนหน้านี้มีความพยายามแก้ไขสัญญามานับปียังไม่มีข้อยุติ โดยล่าสุดเลขาธิการ สกพอ.เปิดเผยว่า ได้รายงานการจัดทำร่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ไปยังคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมต.พลังงาน เป็นประธานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกิน 1 เดือนจากนี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมต.พลังงาน

*เปิด 2 เงื่อนไขแก้สัญญาร่วมลงทุน

ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุน เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทับซ้อนงานโยธาระหว่างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยเอกชนจะแบกรับก่อสร้างงานโยธา “Super structure” ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท แลกกับการร่นเวลาจ่ายเงินชดเชยการก่อสร้างหรือเงินร่วมลงทุนโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี จากเดิมที่รัฐจะทยอยจ่ายเงินร่วมลงทุน เมื่อโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปีที่ 6-15 ระยะเวลา 10 ปี รวม 149,650 ล้านบาท โดยระบุว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้รัฐประหยัดเงินลงทุน และดอกเบี้ยไปราว 27,000 ล้านบาท และสามารถแก้ปัญหาโครงสร้างทับซ้อนได้

รวมไปถึงกรณีการชำระเงินค่าสิทธิรับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีการแก้ไขการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุน จำนวน 10,671.09 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องชำระภายใน 2ปีคือ 24 ต.ค.2564 เป็นการแบ่งชำระงวดละ 1,067.11 ล้านบาทต่อปีไม่เกิน 7 งวด

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการนายกรัฐมนตรี

“ที่ผ่านมาการรถไฟฯ และ สกพอ.ได้เจรจาแนวทางดังกล่าวเสร็จสิ้นไปตั้งแต่กลางปีก่อน แต่กลับยังไม่มีการนำเสนอขอความเห็นชอบในระดับนโยบาย จนกระทั่ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีทำให้มีการปัดฝุ่นเรื่องดังกล่าวออกมาเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว และมีกำหนดให้ได้ข้อยุติเภายใน 1 เดือนนี้”

*วงการรับเหมาเตือนรัฐเปิดทางเอกชนจับเสือมือเปล่า    

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการก่อสร้าง เปิดเผยว่า ความพยายามในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างการรถไฟฯ ,สกพอ.กับบริษัทเอเชียเอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการนี้ เป็นสิ่งที่วงการรับเหมาและกระแสโซเชียลคาดการณ์กันมาแต่แรกแล้ว 

เพราะหลังกลุ่มทุนรายดังกล่าว ประสบผลสำเร็จในการขอยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จำนวน 10,671 ล้านบาท โดยอ้างผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จนส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและแหล่งเงินกู้ในโครงการก่อนจะขอขยายเวลาจ่ายค่าสิทธิ์ออกไปนั้น ได้ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวาง ขนาดค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแค่หมื่นล้าน บริษัทยังไม่มีศักยภาพที่จะจ่ายให้แก่รัฐได้ แล้วโครงการหลักที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาทและต้องกู้เงินไม่น้อยกว่า 180,000-200,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จจะไม่ยิ่งกว่าหรือ?

อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะ “ล้วงตับ” ดึงเม็ดเงินสนับสนุนการก่อสร้างโครงการจากภาครัฐออกมาใช้ก่อน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตามเงื่อนไขประกวดราคา(TOR) และสัญญาร่วมลงทุนฯกำหนดไว้ชัดเจน รัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุนการลงทุนตามมติ ครม.ในโครงการเมื่อผู้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว (ปีที่ 6 ของสัญญา) โดยจะชำระคืนในระยะเวลา 10 ปีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 2.35% หรือตกปีละราว 13,900 ล้านบาท

ดังนั้น หนทางที่จะล้วงลูกดึงเงินสนับสนุนการลงทุนจากรัฐมาใช้ก่อสร้างก่อน จึงขัดแย้งกับเงื่อนไขการประมูล และสัญญาร่วมลงทุนอย่างเห็นได้ชัด เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนคู่สัญญา  เพราะการที่รัฐบาลตัดสินใจคัดเลือกกลุ่มทุนซีพี. เป็นผู้ชนะประมูลโครงการนี้ เพราะเชื่อในศักยภาพและสถานะด้านการเงินของบริษัท จึงกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนต้องจัดหา Supplier Credit มาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ รัฐจึงจะจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างให้ จึงทำให้เส้นทางการเจรจาแก้ไขสัญญาชะงักงันมาร่วมปี

“แม้จะอ้างว่า การแก้ไขสัญญาปรับร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐในลักษณะ “สร้างไป-จ่ายไป” ที่อ้างว่าทำให้รัฐประหยัดงบประมาณ และดอกเบี้ยลงไปกว่า 27,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินลงทุนในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 9,200 ล้านที่การรถไฟฯ ไม่ต้องแบกรับภาระเอง แต่ในส่วนของคู่สัญญาเอกชนที่ได้ไปจากการแก้ไขสัญญานั้น ไม่เพียงจะลดภาระการระดมทุนร่วม 200,000 ล้านบาทลงไปเหลืออยู่เพียง 79,000 ล้านบาท เพราะหันมาใช้เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐแทน ผลประโยชน์จากการลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ ต้นทุนการระดมทุนของเอกชนที่ได้ไปแทบจะทำให้เอกชน “จับเสือมือเปล่า”

และทำให้เกิดคำถามว่า เป็นธรรมกับผู้เข้าประมูลแข่งขันที่ไม่ถูกคัดเลือกหรือไม่ เพราะการที่รัฐชี้ขาดให้กลุ่มทุนซีพี.ชนะประมูลโครงการนี้ก็ด้วยข้ออ้างเอกชนเสนอเงื่อนไขขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐต่ำกว่าอีกกลุ่ม แต่การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ผิดพลาดอย่างชัดเจน

*แถมพ่วงบี้ กสทช. ปิดดีลควบรวม ”ทรู-ดีแทค”

นอกจากการผลักดันแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแล้ว แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ยังจะมีกรณีของการพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัดหรือ “ทรู” และ บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ “ดีแทค” ที่คาราคาซังมาร่วม 9 เดือนนับจากสองบริษัทสื่อสารได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับทราบเมื่อเดือน ม.ค.65 แต่ กสทช.ใช้เวลาพิจารณามากว่า 9 เดือนยังไม่มีข้อยุติ

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่ากรณีดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมาดำเนินการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือนนี้ โดยได้ทำหนังสือขอให้นายกฯรักษาการประสานสั่งการไปยัง คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตอบข้อหารือของสำนักงาน กสทช.เกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.ว่า ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติดีลควบรวมกิจการได้ตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 ทำได้เพียงการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาความเสียหายจากประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

“ให้จับตาความเปลี่ยนแปลง ทั้งกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินและดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคที่กลุ่มทุนการเมืองได้มีการพิจารรากับระดับหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่จะให้มีข้อยุติภายใน 1-2 เดือนนี้แลกกับการเป็นท่อน้ำเลี้ยงพรรคการเมืองใหญ่ที่หมายมั่นปั้นมือจะผงาดบิ๊กบึ้มภายใต้หัวหน้าพรรคการเมืองโดยไม่ตองอาศัยยืมจมูกใครอื่นหายใจ”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts